สื่อสังคม (Social Media)
อ.กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช[1]
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมืองช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ทุกท่านที่ใช้สื่อสังคม (Social Media) ในช่วงดังกล่าว คงได้ทราบถึงความสำคัญของสื่อประเภทนี้ ทั้งในการใช้เพื่อหาข้อมูลข่าวสาร หรือ การใช้เพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สื่อสังคมที่นิยมใช้มากที่สุด คงหนีไม่พ้นสื่อสังคมที่เรียกว่า Facebook และ Twitter ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการสื่อสังคมชั้นนำในระดับโลก รูปแบบการให้บริการสื่อสังคมของผู้ให้บริการหลัก ๆ ทุกรายจะเน้นการนำเอาเทคโนโลยีเป็นสื่อที่ตอบสนองการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Relationship) ซึ่งรูปแบบการให้บริการจะเป็นการให้บริการการเผยแพร่ข้อความ ข่าวสาร ภาพ และ สื่อต่าง ๆ ผ่านเว็บไซต์ พร้อมทั้งมีระบบเชื่อมโยงเครือข่ายผู้สนใจประกอบกันกับส่วนการเผยแพร่ ทำให้เป็นสื่อที่มีกลุ่มทางสังคมประกบติดอยู่ด้วย
สื่อ Social Media ที่นิยมใช้หลัก ๆ ในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ๆ คือ
1.กลุ่มเว็บไซต์เพื่อการสื่อสารแบบเครือข่ายโดยตรง ที่เรียกว่า สื่อเครือข่ายสังคม (Social Networking Media) เช่น Facebook, Windows Live Spaces, Hi5
2.กลุ่มเว็บไซต์แสดงข้อความ(Blogs) ที่เป็นเว็บไซต์บทความทั่วไปที่มีการโต้ตอบ แลกเปลี่ยนให้ความเห็นกันได้ เช่น Blogger, WordPress และมีกลุ่มเว็บไซต์ประเภทนี้ แต่แตกเป็นประเภทย่อย ๆ แยกออกมาเช่น เว็บไซต์แสดงข้อความสั้น (Micro-blogging) อย่าง Twitter
3.กลุ่มเว็บไซต์มัลติมีเดียที่มีภาพ เสียง คลิป ไฟล์ต่าง ๆ ขึ้น Upload และแบ่งปันกัน (Share) เช่น YouTube, slideshare, Flickr, Photobucket, Picasa
4.กลุ่มเว็บไซต์เพื่อความร่วมมือเฉพาะแบบ เช่น สารานุกรมออนไลน์ Wikipedia
ซึ่งในปีนี้ (2553) ทั้ง Facebook และ Twitter ได้เข้ามาแทนที่ผู้ให้บริการสื่อสังคม (Social Media) เดิมอย่าง Windows Live Spaces และ Hi5 ที่ได้รับการพูดถึงน้อยลงในช่วงปีที่ผ่านมา โดย Facebook มีผู้ใช้บริการ (Registered Users) ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านคน และTwitter มีผู้ใช้บริการทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 75 ล้านคน ส่วน Windows Live Spaces ที่มีค่ายSoftware ใหญ่อย่าง Microsoft เป็นเจ้าของหนุนหลังแต่ก็มีผู้ใช้บริการทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 120 ล้านคน[2] ซึ่งถือว่าน้อยกว่า Facebook เป็นอย่างมาก
Twitter ตัวจริงเรื่องข้อความสั้น (Micro-blogging)
Twitter เป็นเว็บไซต์สื่อสังคม (Social Media) ที่มีลักษณะใช้รูปแบบการให้บริการเผยแพร่ข้อความสั้น (Micro-blogging) ผสมผสานกับการทำเป็นสื่อเครือข่ายสังคม (Social Networking Media) บางส่วนโดยผู้ที่เผยแพร่ข้อความเองก็สามารถเลือกติดตามผู้ที่เผยแพร่ข้อความคนอื่น ๆ ได้ด้วย โดยผู้ใช้ Twitter จะเรียกผู้ติดตามว่า Follower
Twitter มีลักษณะการนำเสนอข้อความแบบข้อความสั้น ๆ โดยผู้ใช้จะถูกกำหนดให้สามารถพิมพ์ข้อความนำเสนอได้ครั้งละเพียง 140 ตัวอักขระ ซึ่งคุณลักษณะนี้กลับทำให้ Twitterเองเป็นที่นิยมมาก จากกระแสการนิยมเข้าถึงสื่อสังคม (Social Media) ผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่สมัยใหม่ (Smartphone) เพราะด้วยข้อความที่สั้นและไม่มีการแสดงรูปภาพหรือไอคอนภาพนิ่งหรือเคลื่อนไหว ทำให้สะดวกต่อการโหลดข้อมูลผ่านระบบโทรศัพท์ให้รวดเร็ว อีกทั้งการใช้ผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่สมัยใหม่ยังไม่ได้ผ่านการต่อผ่านเว็บไซต์ตรง แต่เป็นการต่อผ่าน Application ที่ทำไว้โดยเฉพาะอีกด้วย
ทั้งนี้จากสถิติที่รวบรวมโดยนิตยสาร Positioning เดือนมิถุนายน 2553 รายงานว่า ผู้ใช้Twitter ผ่านโทรศัพท์มือถือ ( Smart Phone ) ทั่วโลกมี 37% ในขณะที่คนไทยมีสัดส่วนการใช้Twitter ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สมัยใหม่ (Smartphone) สูงถึง 60%[3] จากสถิตินี้เห็นได้ว่า ความนิยมใน Twitter ของคนไทยมีอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับชาติอื่น ๆ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สมัยใหม่ (Smartphone) เป็นจำนวนมากก็เป็นได้ (โทรศัพท์เคลื่อนที่สมัยใหม่ ที่นิยมในประเทศไทย คือโทรศัพท์ BB BlackBerry และโทรศัพท์iPhone)
เนื่องจาก Twitter เป็นการแสดงข้อความสั้นเป็นหลักเพียงอย่างเดียว จึงได้มีการใส่คำสั้น เพื่อแสดงและค้นหากลุ่ม ด้วยรูปแบบพิเศษขึ้นมา ที่เรียกว่า “การใส่คำสั้นๆ เพื่อบ่งชี้ประเด็น” หรือที่เรียกว่า “Tag” หรือ “Hash Tag” โดยการใส่คำสั้นประเภทนี้เปรียบเสมือนหัวเรื่องที่ทำให้สังเกตง่าย และ สามารถใช้การค้นหาได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีผู้รวบรวมสถิติคำยอดนิยม“Tag” ในแต่ละวันที่ใช้ในประเทศไทยเอาไว้ที่เว็บไซต์http://www.lab.in.th/thaitrend/ โดยสามารถใช้ศึกษาถึงประเด็นยอดนิยมของคนที่ใช้สื่อเครือข่ายสังคม Twitter ในแต่ละวันได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง พ.ศ.2553 ที่ผ่านมา คำสั้นยอดนิยมอย่าง “เสื้อแดง” “เสื้อหลากสี” “เรารักในหลวง” ก็ถูกใช้อยู่ตลอดเป็นอันดับต้นๆ
Face book หนังสือรุ่น ที่ไม่ใช่แค่หนังสือรุ่นอีกต่อไป
Facebook มีจุดกำเนิดมาจากการที่ Mark Zuckerberg นักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ในประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มเพื่อนได้พัฒนาเว็บไซต์ที่ให้บริการเครือข่ายเพื่อนขึ้นมา โดยมีจุดมุ่งหมายแรกจะให้เป็นเสมือนหนังสือรุ่น (Face book) ซึ่งต่อมาได้แพร่หลายไปยังโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จนต่อมาก็เปิดให้บุคคลทั่วไป กิจการธุรกิจ นักการเมือง กลุ่มผู้มีความนิยมในเรื่องเดียวกัน ใช้ได้อย่างอิสระ
Facebook มีลักษณะที่เป็นเว็บไซต์เพื่อการสื่อสารแบบมีเครือข่ายโดยตรง ที่เรียกว่า สื่อเครือข่ายสังคม (Social Networking Media) โดยผู้ใช้จะสามารถหาเพื่อน และ มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนได้สะดวกผ่านระบบการให้บริการต่าง ๆ ที่สนับสนุนทั้งการรายงานข้อความสั้น บทความ ภาพ คลิปวีดีโอ เกมส์ ฯลฯ ในการสร้างกลุ่มเครือข่าย Facebook จะมีลักษณะที่เอื้อต่อการเพิ่มจำนวนเครือข่ายของผู้ใช้เอง โดยการเข้าไปขอเป็นเพื่อนกับคนที่เราสามารถสืบค้นต่อ ๆกันไปได้เรื่อย ๆ ทำให้ Facebook ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทั้งในทางการตลาดและการเมือง จนมีการกล่าวว่า การประท้วงของกลุ่มคนเสื้อหลากสีในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ2553 ที่ผ่านมานี้เป็น “ม็อบเฟซบุ๊ก” ที่พัฒนาหาผู้ร่วมชุมนุมได้มากกว่าสมัยยุค “ม๊อบโทรศัพท์มือถือ” ในยุคพฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 เป็นอย่างมาก
Facebook สามารถแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนกันได้สะดวกผ่านระบบการใช้ของ Facebook เองที่ใช้ง่าย สร้างเป็นพื้นที่แห่งการแสดงและเผยแพร่รูปภาพ บทความ และ คลิปวีดีโอมาประกอบการแลกเปลี่ยนความเห็นได้ ได้อย่างสะดวก ทั้งยังสามารถใช้เป็นช่องทางส่งต่อความคิดเห็นให้แพร่กระจาย (Viral Communications)ทำให้ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง พ.ศ.2553 ที่ผ่านมาFacebook กลายเป็นสนามรบแห่งการแสดงออกทางความคิดด้านการเมืองอย่างชัดเจน
นักการเมืองและการรายงานข่าวการเมือง กับสื่อสังคม (Social Media)
เนื่องจากธรรมชาติของสื่อสังคม (Social Media)มีลักษณะที่เน้นรูปแบบการสร้างความสัมพันธ์กับเครือข่าย อีกทั้งยังสามารถเพิ่มพูนความสัมพันธ์และประสบการณ์ ตามหลักการตลาดเชิงความสัมพันธ์และประสบการณ์ (Relationship and Experimental Marketing) ให้กับแบรนด์ตัวนักการเมืองเอง นักการเมืองไทยหลายคนก็ใช้สื่อสังคม (Social Media) ในการส่งข่าว สื่อสาร และ ทำการตลาดในกับตัวเอง เช่น พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ที่ใช้สื่อเครือข่ายสังคมอย่าง Twitter (https://twitter.com/thaksinlive) ในการแสดงความคิดเห็นของตัวเอง ในทางการเมืองมาโดยตลอดช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี 2552-2553 โดยมีผู้ติดตาม (Follower) ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2553 อยู่ถึง 111,575 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับนักการเมืองรายอื่น ๆ
ในขณะที่ผู้เป็นสมาชิกติดตาม Twitter (Follower) กับนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (http://twitter.com/pm_abhisit) มีจำนวนอยู่ที่ 109,672คน ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2553 และ มีผู้ที่เป็นสมาชิก Facebook กับนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ( Abhisit Vejajiva) ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2553 มีจำนวนถึง 338,840 คนซึ่งก็ถือว่ามีจำนวนสูงมากเมื่อเทียบกับกลุ่มนักการเมืองผู้ใช้ Facebook รายอื่น ๆ นอกจากนี้ก็มีการตั้งกลุ่มผู้สนับสนุน นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใน Facebook กลุ่ม I Support PM Abhisit ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2553 มีจำนวนอยู่ที่ 103,503 คน ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ชี้ให้เห็นการวัดความนิยม (Rating) ในตัวนักการเมืองได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม มีนักการเมืองบางส่วนที่ยังไม่สนใจที่จะใช้ช่องทางสื่อสังคม (SocialMedia) ในการสื่อสาร เช่น นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ยังไม่มี Facebook Twitter และ Weblog เป็นของตัวเอง (ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2553) [4] โดยได้มีการให้เหตุผลประกอบว่า กำลังอยู่ระหว่างการวางหลักการในการใช้ให้เป็นมาตรฐานอยู่ ซึ่งก็จัดได้ว่าเป็นนักการเมืองในกลุ่มที่ค่อนข้างระมัดระวังในการใช้ แต่ก็อาจจะถือว่าช้าเกินไปและอาจจะเสียเปรียบในด้านการสื่อสารเมื่อเทียบกับนักการเมืองคนอื่น ๆ ที่ใช้สื่อสังคม (Social Media)ไปก่อนหน้าแล้ว
นอกจากกลุ่มนักการเมืองที่มีการใช้สื่อประเภทนี้มากขึ้นแล้ว ในส่วนของกลุ่มนักข่าวภาคสนามที่เคยรายงานข่าวการเมืองในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง พ.ศ.2553 อย่าง นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ นักข่าวภาคสนาม ในเครือเนชั่น ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ใช้ Twitter(http://twitter.com/noppatjak ) ในการรายงานข่าวอย่างสม่ำเสมอ โดยมีผู้ติดตาม (Follower) ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2553 อยู่ 19,118 คน โดยนอกจากนภพัฒน์จักษ์ แล้ว นักข่าว และสำนักข่าวเกือบทุกสำนักก็ล้วนแล้วแต่ปรับตัวใช้สื่อสังคม (Social Media) ในการรายงานข่าวด้วยกันทั้งหมด
ซึ่งอาจจะสรุปได้ว่าอิทธิพลของสื่อสื่อเครือข่ายสังคมต่อการรายงานข่าวสารนั้น เกิดขึ้นจากลักษณะพื้นฐานของสื่อประเภทนี้เองที่นี้ สามารถส่งต่อข้อมูลข่าวสารในแบบทันทีทันใด (Real-time) ทำให้เกิดการรับรู้ ถกเถียง และแสดงความคิดเห็นในวงเครือข่ายได้กว้างขวาง ซึ่งตรงรูปแบบของผู้ให้บริการสื่อประเภทนี้จะมีช่องทางในการแสดงความคิดเห็นโต้ตอบกันด้วย อันเป็นการเปิดพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิด และสร้างการรวมกลุ่ม ดังเห็นได้จากปรากฏการณ์ “ม็อบเฟซบุ๊ก” หรือ “ม็อบออนไลน์”[5]
เรื่องเกี่ยวกับสื่อสังคม (Social Media) ทั้งหมดในข้างต้นนี้ คงจะไม่เป็นการเกินเลยไปที่ผู้เขียนจะกล่าวว่า เป็นเพียงหนึ่งในพันส่วนของปรากฏการณ์เกี่ยวกับสื่อสังคม (Social Media) ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและในสังคมโลกช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากท่านผู้สนใจท่านใด อยากจะรู้จักสื่อสังคม (Social Media) มากกว่านี้ คงไม่มีวิธีใดเหมาะสมไปกว่าการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสื่อสังคม (Social Media) และสังเกตปรากฏการณ์นี้ด้วยตนเอง
อ้างอิง
- นิตยสาร Positioning ฉบับที่ 073 เดือนมิถุนายน 2553 หน้า 32 “ยุคนี้ต้อง 140 ตัวอักษร”
- นิตยสาร Positioning ฉบับที่ 073 เดือนมิถุนายน 2553 หน้า 44 “ไก่อู สนั่นออนไลน์”
- Wikipedia. List of social networking websiteshttp://en.wikipedia.org/wiki/List_of_social_networking_websites สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553
- Joe Clift. Social media present and future: Insights from Social Media World Forum Europe2010 http://www.warc.com/ สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2553
- ASTVผู้จัดการออนไลน์ ยัน “Facebook รมต.ไอซีที” ของปลอมhttp://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9530000086669 สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2553
- นิตยสาร Positioning รู้จักม็อบออนไลน์ http://www.positioningmag.com/magazine/Details.aspx?id=87138 สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2553
[1] หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์
[2] Wikipedia. List of social networking websiteshttp://en.wikipedia.org/wiki/List_of_social_networking_websites สืบค้นเมื่อวันที่ 29มิถุนายน 2553
[3] นิตยสาร Positioning ฉบับที่ 073 เดือนมิถุนายน 2553 หน้า 32 “ยุคนี้ต้อง 140 ตัวอักษร”
[4] ASTVผู้จัดการออนไลน์ ยัน “Facebook รมต.ไอซีที” ของปลอมhttp://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9530000086669 สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2553
[5] รู้จักม็อบออนไลน์ http://www.positioningmag.com/magazine/Details.aspx?id=87138สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2553
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น