วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

MC...WE SHARE บูรณาการความรู้สู่ 'ซำสูง'

MC...WE SHARE บูรณาการความรู้สู่ 'ซำสูง'

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 - 5 ก.ย. 2553

การศึกษาในยุคปัจจุบันต้องปรับตัวเพื่อตอบรับกับความเปลี่ยนแปลง และต้องสร้างความแตกต่าง นำความรู้ไปปฏิบัติใช้ได้จริงและหากการศึกษาจะทำให้นักศึกษาได้เข้าใจทฤษฎีอย่างถ่องแท้ ได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้นำความรู้ไปพัฒนาชุมชนสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากจะเป็นเวทีทดสอบความสามารถเยาวชนของชาติแล้ว

มหาวิทยาลัยยังได้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในฐานะผู้ผลิตความรู้และนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมได้อีกทางหนึ่ง

โครงการ "MC...WE SHARE"ของภาควิชาการสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ภายใต้การดูแลของคณาจารย์ประจำภาควิชา ประกอบด้วย อาจารย์กอบกิจประดิษฐผลพานิช, ผศ.สุรางคนา ณ นคร,อาจารย์วิลาวัณย์ วโรภาษ และผศ.ดร.พนารัตน์ ลิ้มอาจารย์วัยหนุ่มสาวที่มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะเปิดโลกทัศน์และบูรณาการองค์ความรู้ที่ประสิทธิ์ประสาทให้นักศึกษาที่เรียนมาถึงระดับชั้นปีที่ 3-4 ได้นำทฤษฎีความรู้ที่ได้ไปแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนสังคม

อำเภอซำสูง จ.ขอนแก่น อำเภอใหม่ที่เพิ่งถูกตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 เป็นพื้นที่เป้า

หมายสำหรับโจทย์วิชาการสร้างแบรนด์ของนักศึกษาปี 3 และวิชาการตลาดเพื่อสังคมของนักศึกษาปี 4 ภาควิชาการสื่อสารการตลาดอำเภอเล็ก ๆ ที่ประชากรในพื้นที่มีรายได้ต่อหัว 40,293 บาทต่อปี ทำนาได้ปีละหน ส่วนเวลาที่เหลือ คนวัยแรงงานต้องออกไปขายแรงงานในกรุงเทพฯหรือต่างจังหวัด ถ้าไม่ไปไหน ก็ต้องกลายเป็น

คนว่างงานอยู่หลายเดือน เกิดเป็นปัญหาเศรษฐกิจต่อครอบครัว สร้างปัญหาสังคมเป็นทอด ๆ

ขณะที่กิจกรรมพานักศึกษากว่า 80 คนลงพื้นที่ สัมผัสท้องนา สวนผัก ใช้ชีวิตร่วมกับคนในชุมชนเป็นเวลา 3 คืน 4 วัน โดยมีโจทย์ว่า นักศึกษาปี 3 จะต้องสร้างแบรนด์ให้กับผักปลอดสารพิษซำสูง และนักศึกษาปี 4 มีภารกิจปั้นดินเป็นอาคารอเนกประสงค์ให้ชุมชน โดยร่วมสร้างร่วมทำกับคนในชุมชน ผ่านการบูรณาการความรู้จาก 5 วิชา ได้แก่การตลาดเพื่อสังคมการบริหารตราสินค้า (Brand) การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกการสร้างสรรค์งานสื่อสารการตลาดการส่งเสริมการขายและกิจกรรมทางการตลาดมาแก้ปัญหาและร่วมพัฒนากับชาวบ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่และข้าราชการในอำเภอซำสูงเป็นหน่วยอำนวยความสะดวกและให้การสนับสนุน

"ยุวลักษณ์ ศรีสุวรรณวิเชียร"นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ระบุว่า เรามีโจทย์ก่อนไป คือการสร้างแบรนด์ และการไปทำกิจกรรม อย่างนี้ทำให้เห็นภาพรวมของวิชาที่เรียนมาเหมือนกับเป็นการต่อจิ๊กซอว์ เพื่อทำให้เกิดผลงานชิ้นใหญ่

นอกจากจะเป็นการบูรณาการความรู้แล้ว ในส่วนของชุมชน นอกจากจะได้ให้ความรู้ใหม่กับนักศึกษามหาวิทยาลัย ชุมชนยังได้รับคำแนะนำและไอเดียการสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพของชุมชน ซึ่งก็คือผักปลอดสารพิษ ที่แม้ปัจจุบันจะมีวางจำหน่ายในห้างค้าปลีกในจังหวัดขอนแก่นแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มีชื่อเสียงมากพอ

"ไกรสร กองฉลาด"นายอำเภอซำสูงระบุว่า ที่ซำสูงปลูกข้าวได้เพียงปีละครั้งใช้เวลา 4 เดือน แต่อีก 8 เดือน คนก็ไม่มีอะไรจะทำ แต่ผักปลอดสารพิษ ปลูกได้ทั้งปี แต่ตอนนี้ชุมชนยังขาดความเข้าใจในเรื่องการตลาด ก็ทำให้ขายลำบาก การที่นักศึกษาได้ไปสัมผัสกับพื้นที่จริง และนำมาสร้างเป็นแผนการตลาด การสร้างแบรนด์ให้กับผักปลอดสารพิษซำสูงนั้นเป็นเรื่องน่าประทับใจมาก เพราะจากที่นั่งฟังการนำเสนอแผนการสร้างแบรนด์ของน้อง ๆ ทำให้เห็นถึงความตั้งใจ จริงจังและคิดอย่างเป็นระบบ

"ผมเห็นถึงความจริงจัง ตั้งใจ การวิเคราะห์ปัญหา มองปัญหาของน้อง ๆไม่ต่างจากคนในพื้นที่ จะว่าไปแล้วข้าราชการในพื้นที่ยังวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง (SWOT) ไม่ได้เท่าเด็กเหล่านี้เลย"นายอำเภอไกรสรกล่าว

เพราะนอกจากจะได้ไปสัมผัสชีวิตชาวชนบท ได้ไถนา ปลูกผัก ทำกิจกรรมกับน้องนักเรียนในชุมชน ไปเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 13-16 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อนำมาทำแผนการสร้างแบรนด์แล้ว นักศึกษายังต้องกลับมาทำแผนและนำเสนอผลงานต่อหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์และนายอำเภออีกครั้ง เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมาด้วย

"ดร.ศิริกุล เลากัยกุล"ที่ปรึกษากลยุทธ์การสร้างแบรนด์และองค์กร บริษัท เดอะแบรนด์บีอิงค์ คอนซัลแตท จำกัด กล่าวถึงผลงานของนักศึกษาทั้ง 5 กลุ่มว่า นี่คือความหวังของระบบการศึกษาไทย การเรียนรู้แบบนี้มันให้ผลเกินความคาดหมายจากที่เคยมาบรรยายเรื่องแบรนด์ให้กับนักศึกษาก่อนลงพื้นที่จริง ก็มีความกังวลอยู่ว่านักศึกษาจะเข้าใจในระดับไหน เพราะเรื่องธุรกิจ เรื่องแบรนด์ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พอมาฟังการนำเสนอผลงานวันนี้แล้ว พวกเขาทำได้ดีมาก และต้องชื่นชมอาจารย์ที่ได้สร้างความเชื่อมั่น ศรัทธาจนทำให้เด็ก ๆ ลุกขึ้นมาทำอะไรได้ขนาดนี้

"ถ้ามีโครงการอย่างนี้ให้ได้ปีละ 1 ตำบล 1 โครงการ ก็จะเป็นโอกาสช่วยชาติได้มหาศาลเลย"ดร.ศิริกุลกล่าว การบูรณาการความรู้ การคิดอย่างเป็นระบบ มีกระบวนการ และการได้มีโอกาสสัมผัสของจริง พื้นที่จริง ลงมือทำจริง ๆนอกจากจะทำให้นักศึกษาภาควิชาสื่อสารการตลาดของสถาบันแห่งนี้ได้ทบทวนความรู้ที่เล่าเรียนมา ยังเป็นการสร้างประสบการณ์ทางสังคมให้กับนักศึกษาและน่าจะดีมากขึ้นอีก หากจะมีการติดตามผล และทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชุมชนได้อยู่รอด พึ่งพาตัวเองได้ โดยมีผลงานของนักศึกษาเหล่านี้เป็นแบ็กอัพ--จบ--


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น