วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2554

รุ่งหรือร่วง? 'ตลาดนัดจตุจักร' วันที่จะเปลี่ยนมือบริหาร ‘ทำเลทอง’

รุ่งหรือร่วง? 'ตลาดนัดจตุจักร' วันที่จะเปลี่ยนมือบริหาร ‘ทำเลทอง’
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน12 ธันวาคม 2554

จาก http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000158014





เป็นชนวนขัดแย้งกันมาสักพักใหญ่ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เกี่ยวกับการบริหารตลาดนัดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอย่าง 'ตลาดนัดจตุจักร' เพราะสัญญาเช่าที่กำลังจะหมดลงในสิ้นปี 2554 นี้ โดยระหว่างนั้นก็มีการเจรจาในเรื่องค่าเช่าในอัตราใหม่ ถือว่าเป็นปัญหาหนักไม่ใช่เล่น เนื่องจาก กทม. ต้องการจ่ายให้ค่าเช่าเพียงปีละ 79 ล้านบาท ซึ่งสวนกระแสกับรายได้ที่ ร.ฟ.ท. ต้องการรายได้ถึง 1,100 ล้านบาทต่อปี

เมื่อตัวเลขความต้องการต่างกันถึง 14 เท่าตัว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สุดท้ายแล้ว การเจรจาครั้งนี้จะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และในที่สุด ร.ฟ.ท. ก็เลือกวิธีการจัดการที่ตัวเองคุ้นเคยคือ การตั้งบริษัท ตลาดนัดจตุจักร ร.ฟ.ท. จำกัด เข้ามาดูแลแทน เหมือนกับที่ทำกับแอร์พอร์ตลิงก์ โดย พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้ตั้งความหวังเอาไกลๆ ว่า จะพัฒนาปรับโฉมตลาดนัดจตุจักรนี้ให้มีความทันสมัย สะอาด รวมทั้งจัดทำเป็น ‘วอล์กกิ้ง สตรีท’ อีกต่างหาก ส่วนปัญหาที่คาราคาซังไม่ว่าเรื่องอัตราเช่าแผง หรือเงินใต้โต๊ะ ก็เตรียมจะล้างบางให้หมดไปโดยเร็ว

แน่นอนแม้งานนี้รัฐมนตรีจะให้สัญญาประชาคมเอาไว้ แต่เชื่อเถอะว่าถึงตอนนี้หลายคนอาจจะรู้สึกหวาดๆ อยู่ค่อนข้างมาก เพราะต้องยอมรับว่าการบริหารธุรกิจของ ร.ฟ.ท. ที่ไม่ใช่การปล่อยพื้นที่ให้รัฐและเอกชนเช่านั้น ช่างดูลุ่มๆ ดอนๆ เสียเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นงานรถไฟเอง หรืองานแอร์พอร์ตลิงก์ แล้วตลาดนัดแห่งนี้จะไปรอดหรือไม่?!?

เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดตอนนี้ก็คือ การจับตาดูการบริหารครั้งนี้ว่าจะเป็นเช่นใดต่อไป รวมไปถึงการจับทิศทางการปฏิรูปตลาดนัดจตุจักร ซึ่งถือว่าสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ไม่ว่าชาวไทยหรือชาวต่างชาติก็ต้องแวะว่า สุดท้ายควรจะไปทางไหนดีกันแน่

[1]

เป็นเวลากว่า 30 ปีเต็มแล้วที่คนไทยมีโอกาสได้รู้จักกับตลาดนัดจตุจักรแห่งนี้ เพราะเมื่อก่อนตลาดนัดใจกลางกรุงนั้นประจำที่ท้องสนามหลวง แต่ในปี 2525 มีการผลักดันให้กลุ่มผู้ค้าย้ายมาอยู่ที่นี่แทน ซึ่งระหว่างนั้นก็มีความขัดแย้งมากมายเต็มไปหมด โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความมั่นใจว่าตลาดแห่งใหม่จะไปรอดหรือไม่ เพราะเป็นธรรมดาของการย้ายสถานที่ ย้ายทำเล ที่สุดท้ายแล้วอาจจะไม่สามารถย้ายลูกค้าไปด้วย แต่จากข้อพิสูจน์ในปัจจุบัน ก็คงทำให้ได้ว่าปัญหาที่หลายคนเป็นห่วงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด เพราะสุดท้ายแล้วตลาดนัดจตุจักรก็ยังขยายไปอย่างต่อเนื่อง และดูจะเจริญรุ่งเรืองกว่าแต่ก่อน

“ถ้าเราไปดูจตุจักรวันนี้ คนแน่นเอี๊ยดเลย ตรงนี้ก็คงเป็นดัชนีตัววัดว่าถ้าบริหารจัดการไม่ได้ก็คงไม่สามารถดึงคนได้ขนาดนี้ เพราะใครเชื่อว่าจากสนามหลวงที่คนไม่อยากจะย้าย แต่มันสามารถแปลงโฉมให้เป็นที่พอใจ และทำได้ดีกว่าสนามหลวงเสียอีก เพราะฉะนั้นถ้าดูจากการบริหารก็ถือว่าจัดการได้ดีมาก” รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ให้ความเห็นเกี่ยวกับบริหารงานของกรุงเทพมหานคร

แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะถือว่าประสบความสำเร็จไปเสียหมด เพราะต้องยอมรับว่า ท่ามกลางความสำเร็จก็มีปัญหาเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงของกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า การขึ้นค่าแผงแบบก้าวกระโดด เพราะต้องยอมรับว่าเมื่อธุรกิจเจริญเติบโต ก็ย่อมจะมีคนพยายามแย่งเข้าไปมาประกอบกิจการภายในธรรมดา เพราะคิดว่านี่คือทำเลทอง ด้วยเหตุนี้เองภายในตลาดนัดจตุจักรจึงประกอบไปด้วยผู้ค้าออกเป็น 3 กลุ่มคือ

1.กลุ่มย้ายมาจากสนามหลวง ซึ่งจ่ายค่าเช่าแผงที่ 500 บาท ซึ่งเป็นอัตราขั้นต่ำที่ กทม.กำหนดเอาไว้
2.กลุ่มเช่าช่วงต่อ ซึ่งเช่าต่อจากเจ้าของแผงตัวจริง โดยค่าเช่าแผงจะสูงขึ้น คือตั้งแต่ 7,000-18,000 บาท ขึ้นอยู่กับทำเลว่า ดีหรือไม่ หากที่ดีๆ ติดถนนคนเดิน ราคาก็แพงหน่อย แต่ถ้าต้องเข้าไปในซอก ราคาก็จะถูกลงมา
3. กลุ่มนายทุน ซึ่งพวกนี้มักจะเป็นที่มีแผงอยู่ค่อนข้างเยอะ บางคนก็เป็นผู้มีอิทธิพลในวงราชการ เพราะฉะนั้นจึงได้สิทธิพิเศษในการจับจองแผง ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ทำต่อมาก็คือปล่อยเช่าในราคาแพงมาก บางรายก็เสียค่าเช่าถือว่า 30,000 บาทเลยก็มี ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะยอมเพราะถือว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นปัญหาทางเทคนิค ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการบริหารงานธุรกิจใหญ่ๆ ที่จะต้องมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ้าง ดังนั้น ถ้ากล่าวกันโดยภาพรวมทั้งหมดแล้ว ก็ต้องถือว่าตลาดนัดจตุจักรนั้นถือเป็นการประกอบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

[2]

เมื่อโอกาสทางธุรกิจค่อนข้างสดใส คำถามก็คือ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารงานใหม่ จาก กทม. มาเป็นบริษัทลูกของ ร.ฟ.ท. ตลาดนัดจตุจักรซึ่งกำลังอยู่ในทิศทางที่ดีจะได้รับผลกระทบหรือไม่

ซึ่งในเรื่องนี้ รศ.ดร.สมชาย ก็บอกว่าไม่ถือเป็นปัญหา เพราะตอนนี้ตลาดนัดจตุจักรถือได้ว่า เป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแล้ว ต่อให้ใครเข้ามาบริหารงานก็ไม่ถือว่ายากสักเท่าใด หากไม่ทำอะไรที่จะเป็นการลบล้างข้อเด่นที่มีไป ดังนั้นซึ่งสิ่งหนึ่งที่คนที่เข้ามาต้องมีก็คือ 'เซนต์ของการตลาด' โดยอย่ามองแต่ผลประโยชน์อย่างเดียว แต่ต้องทำความเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองบริหารอยู่

“การทำตลาดแบบนี้ ผมว่าในระยะแรกเป็นเรื่องที่ต้องใช้ฝีมือพอสมควร เพราะต้องดึงคนจากที่หนึ่ง มาอยู่อีกทีหนึ่ง แล้วก็ต้องทำให้คนพอใจด้วย แต่ตอนนี้การบริหารจัดการจะเป็นไปตามธรรมชาติของมันแล้ว เพราะของมันขึ้นแล้ว ง่ายแล้ว เพราะมันไม่เหมือนร้านอาหารที่แม้คุณจะทำขึ้นแล้ว หากบริหารไม่คงเส้นคงวา คนน้อยลง และที่สำคัญการแข่งขันในตลาดแบบนี้ มันไม่มี เอาง่ายๆ ในกรุงเทพฯ คุณจะหาสถานที่ที่ใหญ่โตแบบนี้ แล้วมาบอกว่าอย่าไปที่จตุจักร มาแทนที่...มันไม่มี เพราะฉะนั้นถ้าการรถไฟฯ เอาไป อย่าทำให้มันพังแล้วกัน ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ มันไปได้เอง”

ซึ่งเรื่องพวกนี้ด้วยการศึกษาจุดเด่นที่ทำให้ตลาดประสบความสำเร็จให้ได้เสียก่อน ซึ่งในมุมของผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ ก็บอกว่า 'ความหลากหลาย' น่าจะเห็นได้ชัดเจนที่สุด

“เวลาผมไปเมืองนอก เขาจะมีตลาดที่นักท่องเที่ยวหรือคนในประเทศก็ต้องไป ซึ่งจุดหนึ่งที่พบเป็นพิเศษก็คือ เขาจะมีสินค้าที่หลากหลาย แปลกๆ และมีความครบครันทุกอย่าง ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นผลมาจากการบริหารจัดการที่อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ในอีกทางหนึ่งมันก็มีประเด็นที่ต้องปรับปรุงเหมือนกัน เพราะโดยส่วนผมคิดว่าจตุจักรน่าจะเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกเลย เพราะลักษณะแบบนี้เปรียบเสมือนเป็นภาพลักษณ์ประจำของแต่ละประเทศ แต่จตุจักรยังไม่ถึงขั้นนั้น ฉะนั้นถ้าเขาบริหารจัดการจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวได้อีกมาก”

จากความหลากหลายที่เกิดนี้เอง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ถึงให้คำจำกัดความว่า ตลาดนัดจตุจักรมีความเป็นเลิศเหนือพื้นที่ค้าปลีกอื่น ทั้งในด้านของการเป็นศูนย์กลางแฟชั่น และศูนย์กลางสินค้าไลฟ์สไตล์ที่สามารถดึงดูดทุกกลุ่มเป้าหมายให้มาจับจ่ายใช้สอย และแน่นอนแม้หลายคนจะรู้สึกว่าตลาดนัดแห่งนี้ดูรกรุงรังไปสักหน่อย แต่ถ้ามองให้ดี ก็จะพบว่านี่คือเสน่ห์สำคัญอย่างหนึ่งของตลาดนัดในประเทศเอเชียที่จำเป็นจะต้องมี

ประกอบกับถ้าพิจารณาในแง่ชัยภูมิแล้ว ก็จะพบว่าตลาดนัดจตุจักรนั้นอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ เพราะแวดล้อมไปด้วยสาธารณูปโภคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านคมนาคม สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ส่งผลให้การเดินทางก็สะดวกสบายไปหมด แถมยังเป็นใจกลางเมือง ไม่ว่าจะเดินทางไปจุดไหนก็สะดวกไปหมด

เพราะฉะนั้น หากผู้บริหารทราบถึงจุดเด่นตรงนี้ ก็จะสามารถบริหารต่อไปได้ไม่ลำบากนัก ขอเพียงอย่างเดียวก็คือ จะต้องไม่ลบล้างจุดเด่นตรงนี้ ซึ่ง รศ.ดร.สมชาย ได้ยกตัวอย่างเช่น การลดความหลากหลายลง หรือกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไปสร้างอสังหาริมทรัพย์อย่างคอนโดมิเนียม ซึ่งถือเป็นการบั่นทอนภาพลักษณ์ของตลาดลงอย่างสิ้นเชิง

เช่นเดียวกับเรื่องประชาสัมพันธ์ ที่ผู้บริหารใหม่จะอัดฉีดตรงนี้ให้มากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าตลาดนัดจตุจักรมีความพร้อมตรงนี้อยู่แล้ว ถ้าทำให้มากขึ้นอีกหน่อยโอกาสที่จะเป็นที่รู้จักของชาวโลกก็ไม่เรื่องยาก

ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคมที่มีแนวคิดปรับภูมิทัศน์ของตลาดนัดจตุจักรให้เป็นวอล์กกิ้ง สตรีท นั้น ก็ต้องนำหลักการความคุ้มค่าต่อภาพลักษณ์มาพิจารณาเช่นกัน โดย รศ.นิลุบล คล่องเวสสะ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าเรื่องนี้คงต้องศึกษารายละเอียดให้ดีพิเศษ เพราะตามคำนิยามของถนนแบบนี้ ก็คือ ถนนที่ปิดไม่ให้รถวิ่งแล้วเปิดให้คนเข้าไปเดินได้แทน ในขณะที่ตลาดนัดจตุจักรยังมีลักษณะกึ่งๆ อยู่ เพราะยังเปิดให้รถเข้าไปได้อยู่ ซึ่งหากปรับจริงก็อาจจะมีผลกระทบผู้ประกอบการหรือบรรดานักท่องเที่ยวอยู่บ้าง

“การจะเป็นวอล์กกิ้ง สตรีท หรือรูปแบบใดก็ตาม มันสำคัญที่คอนเซ็ปต์และองค์ประกอบที่ต้องชัดเจน เพื่อที่จะได้สามารถชิงความเป็นหนึ่งและดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมาย อย่างในปัจจุบันพื้นที่ค้าปลีกแบบวอล์กกิ้ง สตรีท หรือ แบบที่ไม่มีหลังคา จะไม่ค่อยเหมาะกับประเทศที่มีฝนตกชุกและอากาศร้อน ดังนั้นหากจะมีการปรับโฉมตลาดครั้งใหญ่ อยากจะเสนอให้มีการคิดคำนึงถึงการปรับรูปแบบให้เป็นลักษณะผสมผสาน ที่มีทั้งส่วนในอาคารปรับอากาศและไม่ปรับอากาศ จุดที่ควรเพิ่มเป็นอย่างยิ่งคือ การขยายทางเดินให้โปร่งกว้างขวาง ควบคู่กับการสร้างลานโล่งทำกิจกรรม ซึ่งจะเป็นจุดดึงดูดคนเพิ่มได้” กอบกิจอธิบายเสริมในประเด็นดังกล่าว

เพียงแค่นี้โอกาสที่ตลาดนัดจตุจักรจะสามารถรักษาภาพลักษณ์ที่ดีไว้ดังเดิม และมีโอกาสต่อยอดความสำเร็จไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะมีใครมาทำหน้าที่บริหารก็เป็นไปได้สูงแล้ว

[3]

นอกจากการทำความเข้าใจองค์กรแล้ว ประเด็นต่อมาที่ถือว่าสำคัญไม่แพ้กันก็คือ การจัดการปัญหาทางเทคนิค อย่างปัญหาการเช่าช่วง การบริหารเวลาหรือความสะอาด เพราะแม้เรื่องเหล่านี้จะมีผลต่อภาพรวมน้อยกว่าการรักษาภาพลักษณ์ เนื่องจากถือเป็นปกติในการบริหารงานขนาดใหญ่ แต่ถ้าปล่อยให้ลุกลามมากๆ ก็จะนำไปสู่ปัญหาสั่นคลอนความมั่นคงของธุรกิจ และสภาพจิตของผู้ที่ได้มีส่วนร่วมกับตลาดนัดจตุจักรเช่นกัน

ดั่งความในใจของ อัญชลี คงสบาย ผู้ค้าที่อาศัยพื้นที่ตลาดนัดสวนจตุจักรเป็นที่ทำมาหากินนานถึง 10 ปี ที่ระบุถึงสิ่งที่เป็นปัญหาของที่ทำกินแห่งนี้

“อยากให้จตุจักรสะอาดกว่านี้ แล้วก็เลือกคนขายที่เป็นผู้ประกอบการ พวกผู้ผลิต จะได้ขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้น เป็นศูนย์กระจายสินค้า ไม่ใช่ประเภทซื้อมาขายไป แล้วก็แก้ปัญหาพวกแบกะดินเพราะเขาไม่เสียค่าเช่า แต่มันก็ต้องแบ่งกัน เราก็สงสารเขา แต่เขาก็ต้องสงสารเราคนข้างในด้วย คือถ้าเขาจะขายก็ให้มาขายเย็นๆ หน่อย ไม่ใช่พอประมาณซักบ่าย 3 โมง ก็มาตั้งขายแล้ว ทำให้คนไม่เดินเข้ามาข้างใน”

ซึ่งแน่นอน ปัญหาแรกที่จะต้องจัดการ ก็คือ การทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่ง รศ.ดร.สมชายบอกว่า หากมีผลประโยชน์เล่นพรรคเล่นพวกมาก จะทำให้เกิดปัญหาเต็มไปหมด โดยเฉพาะภาพลักษณ์ และอาจจะทำให้ความหลากหลายหายไปได้ เพราะผู้ที่เอาเข้าก็มักจะใช้วิธีเลือกที่รักมักที่ชังจนไม่คำนึงถึงเรื่องนี้

“ทุกอย่างมันมีปัญหาหมดแหละ แต่ถ้าคุณไม่โปร่งใส และคำนึงถึงผลประโยชน์แล้วมันไปกระทบต่อลูกค้า ต่อไปเขาอาจจะไม่มาก็ได้ ตัวอย่างมีอาแป๊ะเปิดร้านขายน้ำ แต่เผอิญมองแต่ผลประโยชน์ตัวเองมากเกินไป ก็เลยเลือกสินค้าที่ให้เปอร์เซ็นต์สูงอย่างเดียว แต่เวลาลูกค้ามาที่น้ำแต่เขาอยากได้สินค้าที่เขารู้จัก หากมาแล้วไม่พบ แค่นี้ก็ขายไม่ออก ซึ่งจตุจักรก็เหมือนกัน หากมีการเช่าช่วงแล้วเอาอะไรมาก็ได้ ก็จะเป็นปัญหาในอนาคตเหมือนกัน”

ส่วนปัญหาเรื่องเวลาเปิด-ปิดนั้น ถือว่าเป็นปัญหาที่แก้ได้ง่ายที่สุด เพราะฝ่ายบริหารสามารถกำหนดได้เลยว่าจะไปทางไหนดี หากคนมีความต้องการจะเข้ามาใช้บริการมาก ก็สามารถเพิ่มวันขายให้ตรงกับอุปสงค์ได้เลย

อย่างไรก็ดี ประเด็นหนึ่งที่ รศ.นิลุบล ยังอดห่วงไม่ได้ก็คือ ปัญหาเชิงกายภาพ เช่น เส้นทางและผังที่ดูสับสน เดินหาซื้อของที่ต้องการได้ไม่ง่ายนัก ซึ่งตลาดนัดจตุจักรยังมีอยู่มาก เพราะฉะนั้น ในส่วนนี้ทางผู้บริหารใหม่ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของคนที่มาซื้อของและคนที่มาขายของมากขึ้น โดยวางผังของตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการและการใช้งาน ตัวอย่างเช่น ระบบป้ายบอกทางที่ดี ให้ความสะดวกกับทุกฝ่าย ส่วนอากาศที่ร้อนก็ควรจัดหาร่มเงา ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเป็นร่มเงาจากต้นไม้เสมอไป อาจเป็นร่มเงาจากหลังคาที่เป็นโครงสร้างชั่วคราวหรือกึ่งถาวรแบบต่างๆ ไปจนถึงการเลือกวัสดุพื้น ผนัง หลังคา ที่ไม่เพิ่มความร้อนกับสถานที่

“หากมองอีกมุมหนึ่งตลาดนัดจตุจักรนั้นถือว่ายังขาดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องการดูแลความปลอดภัย การดูแลความสะอาดในสถานที่ การจอดรถ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของห้องน้ำ ขยะ ฉะนั้นผู้ที่จะมาดูแลตลาดนัดจตุจักรในอนาคตควรที่จะวางแผนการพัฒนาเชิงรุก ไม่ใช่แค่ดูแลเพียงอย่างเดียว” กอบกิจสรุปปิดท้าย
……….

แม้วันนี้ตลาดนัดจตุจักรจะอยู่ภายใต้เงื้อมมือใครก็คงไม่สำคัญเท่ากับว่า สุดท้ายแล้วมันจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้จริงๆ หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่า ทำดีพอสมควร ส่วนในอนาคต ก็คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของเวลาดำเนินการไป ส่วนประชาชนอย่างเราๆ ก็คงทำได้เพียงแค่รออย่างใจจดใจจ่อเท่านั้นเอง
>>>>>>>>>>>>
………..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

‘น้ำ’ : ของเหลวที่สำคัญที่สุดในโลก เรื่องราว คุณค่า ที่ถูกตีตราปิดผนึก

‘น้ำ’ : ของเหลวที่สำคัญที่สุดในโลก เรื่องราว คุณค่า ที่ถูกตีตราปิดผนึก

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน19 สิงหาคม 2554 19:33 น

มีการคาดการณ์ว่ายอดขายน้ำดื่มบรรจุขวดในปี 2554 จะเพิ่มจาก 5 ปีที่แล้วถึงร้อยละ 41.8

นั้นก็แสดงว่า 'น้ำ' ได้เปลี่ยนจากของสาธารณะมาเป็นตัวแปรขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเป็นที่เรียบร้อย แน่นอนว่าต้องมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยเข้ามาถือครองสมบัติล้ำค่านี้ แหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีเพียง 2.5 ของพื้นที่โลก ที่มนุษย์สามารถบริโภคได้ จึงมีการบริหารจัดการกันใหม่ อย่างหนึ่งที่เห็นกันชัดๆ คือการหยิบจับเรื่องราวของแหล่งกำเนิดมาใส่ขวด

ไม่ว่าจะเป็นน้ำจากธารน้ำแข็งขนาดใหญ่อายุกว่า 15,000 ปีจากแถบขั้วโลกเหนือ หรือน้ำจากหิมะละลายของเทือกเขาแอลป์จนเกิดเป็นแหล่งน้ำบริสุทธิ์ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นการเพิ่มมูลค่าและกระตุ้นการรับรู้ของผู้บริโภคทั้งสิ้น เหล่านี้เองพ่อค้าแม่ขายหัวใสก็เลยได้ไอเดียจุดประกายผลิตภัณฑ์น้ำที่มีคุณลักษณ์พิเศษว่าด้วยเรื่องสุขภาพและเรื่องราว ออกมาครองตลาดน้ำดื่มทั่วโลก

ในอดีตนั้น แหล่งน้ำตามธรรมชาติจำพวกบ่อน้ำร้อน, บ่อน้ำแร่ ฯลฯ ถูกใช้เป็นสถานที่บำบัดโรคต่างๆ เช่น โรคผิวหนัง, โรคไขข้ออักเสบ ฯลฯ แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการเดินทางจึงทำให้มีเพียงชนชั้นสูงที่มีกำลังทรัพย์เท่านั้น ที่เข้าถึงแหล่งน้ำเหล่านี้ ซึ่งตรงนี้ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดการบรรจุน้ำแร่ลงขวดเพื่อจำหน่ายโดยสปาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20
ในที่สุดกระแสน้ำแร่เพื่อสุขภาพก็กระจายไปยังทั่วโลก

ลองถามกันเล่นๆ ถ้าให้เลือกระหว่างน้ำจากหมู่บ้านวัตต์วิลเลอร์ ประเทศฝรั่งเศส ที่มีความใสบริสุทธิ์ รสชาติหวานละมุน กับน้ำจากคลองแสนแสบของประเทศเรา ที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อจนได้น้ำอันแสนบริสุทธิ์ คุณจะเลือกอะไร?

ตลาด + น้ำ

หลายๆ คนอาจจะมองว่า น้ำดื่มบรรจุขวดเป็นแค่น้ำเปล่าที่ไม่น่าจะมีมูลค่า แล้วทำไมจึงต้องขายในราคาที่แพง หรือยิ่งเป็นน้ำแร่ก็ยิ่งมีราคาสูงขึ้นไปอีกมาก กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า เวลาที่ผู้บริโภคซื้อน้ำดื่มบรรจุขวด เขาไม่ได้ซื้อน้ำเพียงอย่างเดียว แต่เขาซื้อคุณภาพ, ความน่าเชื่อถือ, บรรจุภัณฑ์, สถานที่ขาย รวมถึงความสะดวกสบายเข้าไปด้วย

“น้ำดื่มบรรจุขวดบางตราสินค้าก็มีคุณค่าของตราสินค้ามากกว่าปกติ เพราะได้รับการดูแลสร้างแบรนด์ (ตราสินค้า) มาเป็นเวลานาน มีพลังของความน่าเชื่อถือเจือปนลงไปในสินค้าด้วย ในทางกลับกันน้ำดื่มบรรจุขวดบางยี่ห้อไม่มีใครรู้จัก ไม่มีคุณค่าเจืออยู่ในนั้น ก็จะมีความใกล้เคียงกับน้ำดื่มที่เป็นน้ำเปล่าทั่วไป ไม่มีใครเรียกหา หรืออยากซื้อแบบจำเพาะเจาะจง”

ด้วยช่องว่างทางการตลาดนี้เอง นักการตลาดทั้งหลายจึงเติมเต็มกลเม็ดของตลาดน้ำบรรจุขวดด้วยวาทกรรมต่างๆ นานา ที่เร่งปฏิกิริยาของผู้บริโภคผู้รักสุขภาพ

“นักการตลาดหรือนักโฆษณาหลายๆ คนพยายามสร้างความหมายและวาทกรรมเกี่ยวกับการดื่มน้ำดื่มบรรจุขวดว่า มีความสะอาด ดีต่อสุขภาพมากกว่าการกินน้ำจากเหยือกที่ตั้งอยู่ในโต๊ะอาหาร ,จากน้ำต้ม หรือจากก๊อกน้ำ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเองก็ต้องเสียเงินเพื่อดื่มน้ำดื่มบรรจุขวดแทนน้ำดื่มจากแหล่งอื่น การสื่อสารแบบนี้เป็นการสื่อสารเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า น้ำดื่มอื่นๆ ที่ไม่บรรจุขวดเป็นสิ่งต่ำต้อย ไม่สะอาด ไม่ปลอดภัย ดื่มแล้วอาจจะไม่สดชื่น การสื่อสารการตลาดของน้ำดื่มบรรจุขวดจึงเน้นภาพแห่งความสะอาด สีขาวใส ขวดบรรจุส่วนมากเป็นขวดใส พรีเซ็นเตอร์เป็นคนดูสะอาด เพื่อสร้างแรงจูงใจให้อยากซื้อความสะอาด”

ซึ่งถ้ามองดูตลาดน้ำดื่มบรรจุขวดในปัจจุบัน ก็ต้องยอมรับว่ากลเม็ดเด็ดๆ ที่นักการตลาดนำมาใช้นั้น สร้างแรงดึงดูดแก่ผู้บริโภคหลายระดับ กระตุ้นให้พวกเข้าเลือกซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดจำพวกน้ำแร่และน้ำเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีราคาให้เลือกลดหลั่นกันไปตามกำลังซื้อของแต่ละท่าน

แรกพบก็ตกหลุมรัก ‘น้ำ’

ข้อสังเกตหนึ่งในเรื่องของบรรจุภัณฑ์นั้น จะเห็นว่าน้ำแร่ที่มีราคาสูง ดีไซน์ของขวดนั้นจะเรียบง่าย หรู มีระดับ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากเรื่องราวของน้ำที่ถูกสร้างสร้างความฮือฮาปลุกกระแสสุขภาพได้เป็นอย่างดี รูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์เองก็น่าจะเป็นแรงจูงใจอันดับต้นๆ ที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกพิจารณา

ผศ.ปฐวี ศรีโสภา อาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่ารูปแบบบรรจุภัณฑ์นั้น จะตอบสนองกาลเทศะ และตอบสนองกับกลยุทธ์การตลาดที่ถูกตั้งไว้

“ทุกครั้งที่ทำการดีไซน์แพกเกจ เราต้องวิเคราะห์ตัวโปรดักต์ก่อน ฉะนั้นธรรมชาติของน้ำจำพวกนี้ น้ำแร่ น้ำพุ ฯลฯ มันคือตัวน้ำเอง หมายถึงถ้าว่าถ้าน้ำนั้นมีคุณค่าพอ คนจะไขว่คว้าหา หาซื้อมาบริโภคแล้วบอกต่อๆ กัน ในทางกลับกันถ้าตัวคุณภาพของน้ำไม่แตกต่างจากที่อื่นต่อให้ดีไซน์อย่างไรก็ไม่ได้มีผลมาก เพราะคนยังเปรียบเทียบที่ราคา”

แต่ถ้าไปเจอแหล่งกำเนิดของน้ำที่ให้ คุณค่า ความสดชื่น คุณสมบัติพิเศษ ฯลฯ แล้วถูกตรวจสอบมาแล้วว่า ปลอดภัย รวมถึงมีตำนานมีเรื่องราวบอกเล่ามายืนยันชัดเจน ฉะนั้นตัวคุณค่าของน้ำเองจะเป็นจุดขายมากกว่าแพกเกจ

“ฉะนั้นการออกแบบแพคเกจ คือหนึ่ง-ต้องพิจารณาความใสของน้ำได้ง่าย สองจ-ดจำตราสินค้าได้ง่าย แต่ไม่จำเป็นต้องไปเพิ่มมูลค่าให้มัน เพราะมูลค่าได้อยู่ในตัวน้ำอยู่แล้ว อีกอย่างน้ำเป็นสินค้าที่บริโภคบ่อย ถ้าเราไปดีไซน์ในความเป็นแฟชั่นดึงดูดหรือหวือหวามาก มันจะเบื่อง่าย เพราะฉะนั้นเขาก็พยายามดีไซน์ในลักษณะของความคลาสสิก และพยายามลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุดเพื่อไปเน้นการกระจายสินค้าแทน”

หากมองทิศทางการออกแบบบรรจุภัณฑ์น้ำดื่มในอนาคต ผศ.ปฐวี มองว่า บรรจุภัณฑ์นั้นน่าจะมีความจำเพาะกลุ่มบุคคลมากยิ่งขึ้น เพราะพฤติกรรมการดื่มน้ำของคนในยุคสมัยนี้แตกต่างกันไป ตลาดน้ำดื่มเองย่อมปรับรูปลักษณ์เฉพาะออกมาสนองความตองการอย่างแน่นอน เช่น การขี่จักรยาน การถือขวดน้ำที่ไม่ถนัดในการทำกิจกรรมก็ถือเป็นอุปสรรคหนึ่ง บรรจุภัณฑ์พวกนี้จะต้องสนองการดื่มต่อครั้ง หรือเสริมเกลือแร่สร้างรสชาติเฉพาะกลุ่มบุคคลให้ความรู้สึกเฉพาะ เป็นต้น เหล่านี้เองเป็นแนวคิดแบบยูนิเวอร์ซัล ดีไซน์ ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องการใช้งานเฉพาะกลุ่มกับเชิงของการแก้ปัญหาตัวขวดน้ำเองเป็นหลัก

ก็ต้องยอมรับกันแล้วล่ะว่า น้ำไม่ได้มีไว้ดื่มเพื่อดับกระหายเพียงอย่างเดียว แต่มันหมายถึงการดื่มมูลค่าที่ถูกบรรจุในความว่างเปล่า...

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เปิดกลเม็ดเด็ดพราย 'พรรคการเมือง'

เปิดกลเม็ดเด็ดพราย 'พรรคการเมือง' กลยุทธ์เอาใจเรียกคะแนนจาก 'ประชาชน'

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน26 พฤษภาคม 2554 18:29 น.

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000064524

อีกเพียงหนึ่งเดือนกับไม่กี่วัน ประชาชนคนไทยก็ได้โอกาสทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ ในฐานะของพลเมืองที่ดีของระบบประชาธิปไตยกันอีกแล้ว เพราะในวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2554 ก็จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แน่นอนงานนี้ ดูจะได้รับความสนใจจากบรรดานักเลือกตั้งมากพิเศษ เนื่องจากพวกเขาได้ห่างหายไปจากพิธีกรรมแห่งศักดิ์ศรีนี้มานานกว่า 3 ปี จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมครั้งนี้ถึงมีพรรคการเมืองส่งสมัครสมาชิกเข้ามาแข่งขันเป็น ส.ส. ชุดที่ 24 มากถึง 40 พรรคเลยทีเดียว

โดยแต่ละพรรคต่างก็มีวัตถุประสงค์สำคัญ นั่นคืออยากจะตอบแทนบุญคุณของบ้านเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่มาแสนนาน ด้วยการเสียสละตัวเองมาเพื่อเป็นตัวแทนประชาชนในการบริหารเงินงบประมาณนับหลายแสนล้านบาท

จากความตั้งใจอันแรงกล้า บวกกับผลประโยชน์อันแสนหวาน จึงทำให้แต่ละพรรคของทุ่มทุนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเล็ก-กลาง-ใหญ่ ตั้งใหม่หรือตั้งเก่าต่างก็รีบงัดกลยุทธ์นานัปการเพื่อดูดเสียงของพี่น้องประชาชนมาไว้กับตัวให้จงได้

เอาง่ายๆ ไม่ต้องไปดูไกลที่ไหน แค่ป้ายหาเสียงอย่างเดียว ก็จะพบว่ามากไปด้วยลีลาและสไตล์สุดๆ อย่างบางพรรคก็หยิบเอาคำขวัญหรือนโยบายมาเล่น หรือไม่ก็ใช้วิธีขยี้จุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้ประชาชนหันกลับมาเลือกตนแทน ชณะที่บางพรรคก็ใช้วิธีขายจุดเด่นของหัวหน้าทีมว่า โดดเด่นกว่าใครเพื่อน ส่วนบางคนที่เคยเป็นใหญ่เป็นโต หรือมีชื่อเสียงในวงการต่างๆ มาก่อนก็พยายามเรียกเสียงฮือฮาด้วยการใช้ตัวช่วยเป็นตัวมัสคอตบ้าง เป็นสัตว์บ้าง แล้วแต่โอกาสจะอำนวย

เพราะฉะนั้น เพื่อให้เห็นภาพของกลเม็ดเด็ดพรายที่พรรคการเมืองต่างๆ เรียงร้อยเข้ามาใช้ เพื่อหวังจูงใจประชาชนให้มาลงคะแนนเสียงให้ตัวเอง งานนี้ก็เลยขอสรุปยุทธวิธีในการจูงใจเหล่านี้ออกมาเป็นข้อๆ เสียเลย จะได้รู้กันว่ามุกนี้ของบรรดานักเลือกตั้งจะถึงใจมวลชนจริงๆ หรือไม่

1. ‘ตัวเลข’ นั้น สำคัญไฉน

เคยสงสัยไหมว่า พอถึงเวลาเลือกตั้งขึ้นมาเมื่อใด แต่ละพรรคถึงพยายามจะแย่งตัวเลขสมัครต้นๆ มาไว้ครองให้ได้ โดยเฉพาะเลขหลักเดียว ซึ่งเหตุผลก็เหมือนกันหมดนั่นคือจำง่าย และประชาชนจะได้ไม่สับสนเวลาไปลงคะแนน

ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ไม่ว่าเลขจะดีหรือไม่ก็ไม่เห็นจะมีผลต่อคนเลือกสักเท่าไหร่ ตัวอย่างเช่นกรณีของนายปราโมทย์ ไม้กลัด ซึ่งลงสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2543 ก็ได้หมายเลข 151 แต่กลับได้คะแนนสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ คือ 421,515 เสียงเลยทีเดียว

หรืออย่างการเลือกตั้งสมัยก่อนที่เลือกแบบรวมเขต 1 เขต มี ส.ส. ได้ 3 คน ก็จะเห็นปรากฏการณ์ 3 คน 3 พรรคเกิดขึ้นบ่อยๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่า เอาเข้าจริงประชาชนก็ไม่ได้มีปัญหาจากการจำตัวเลข อย่างบรรดานักเลือกตั้งเป็นห่วงกันสักเท่าใด

อย่างไรก็ตาม แม้สถิติจะชี้ชัดออกมาเช่นนั้น แต่ดูเหมือนว่านักการเมืองจำนวนมากกลับไม่ค่อยเชื่อสักเท่าไหร่ว่า ประชาชนจะมีสติปัญญาพอที่จะจำหมายเลขแบบนั้นได้ โดยเฉพาะหากเป็นเลข 2 หลักแล้ว บางพรรคก็ถึงขั้นท้อกันเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้เอง กลเม็ดเกี่ยวกับตัวเลขจึงต้องถูกผลิตออกมา ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุด เห็นจะพ้นการชูนิ้ว เช่น พรรคเพื่อไทยก็ชูนิ้วชี้นิ้วเดียวก็เป็นเลข 1 แล้ว หรืออย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้หมายเลข 10 มาครอบครองก็ใช้วิธีชูนิ้วทั้งหมดขึ้นมาก็เป็นอันจบ แต่ทว่าดูเหมือนว่า ภายหลังพรรคเก่าแก่นี้จะกลัวประชาชนจะสับสน ก็เลยหันมาใช้วิธีมือข้างหนึ่งชูนิ้วเดียว อีกข้างกำนิ้วไว้ แล้วยกขึ้น แค่นี้ก็อ่านได้ว่า 1-0 แล้ว

แต่หากกรณีที่พรรคไหนได้ตัวเลขมากกว่า 10 การจะมาชูนิ้วก็คงจะเป็นเรื่องลำบากเกินไป และยิ่งหากเอานิ้วเท้าเข้ามาช่วยก็จะดูไม่สุภาพเข้าไปใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงต้องพยายามโยงตัวเลขนั้นให้เข้ากับชีวิตประจำวันให้

อย่างเลข 21 ของพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเซียนการเมืองต่างบอกเป็นเสียงเดียวว่าไม่ดีเอามากๆ แต่พอกลับมาถึงกุนซือพรรคตัวจริงอย่างนายบรรหาร ศิลปอาชา กลับมีการตีความเสียใหม่ว่าเลข 1 คือหยิน เลข 2 คือหยาง รวมกันเป็น 3 หมายถึงพลังอำนาจสูง แถมเขายังเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 อีกต่างหาก เพราะฉะนั้นเลขนี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นเลขมงคลแท้ๆ หรืออย่างพรรคภูมิใจไทยที่ได้เลข 16 ซึ่งถ้ามองแบบเผินๆ ก็ไม่มีอะไรน่าสนใจ ดังนั้นแกนนำพรรคก็เลยต้องหากลยุทธ์ที่ง่ายกว่าเดิม ซึ่งก็มาโป๊ะเช๊ะกับของคุ้นเคยของชาวบ้านแบบพอดิบพอดี นั่นคือเลข 16 ก็คือวันหวยออก ฉะนั้นถ้าประชาชนนึกอะไรไม่ออกก็ขอให้นึกถึงความร่ำรวยเข้าไว้ เพราะเลข 16 คือตัวแทนของความรวยนั่นเอง

2. ‘คน’ นั่นแหละที่ขายได้

ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน สิ่งที่สามารถขายได้เยอะสุด เวลาเลือกตั้งก็คือ คนที่อยู่ในพรรคนั่นเป็นใครบ้าง เพราะต้องยอมรับว่า บางคนก็ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า พรรคนี้ใครกันหนอที่เป็นหัวหน้าพรรค รู้แต่ว่าต้องเลือกพรรคนี้ เพราะคนโน้นคนนั้นลงสมัครในนามพรรค ดังนั้นกลยุทธ์ในการชูตัวบุคคลขึ้นมา จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ให้ความสำคัญ

และจากการที่เข้าไปสอดส่องไปทั่วสนามเลือกตั้งแล้ว ก็พบว่ากระบวนการดังกล่าวนั้นถูกนำมาใช้เป็น 2 แนวทางด้วยกัน ทางแรกก็คือการดึงคนดังจากแวดวงต่างๆ เข้ามาร่วมหัวจมท้ายกับพรรค เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ก็ทำการกวาดต้อนนักกีฬาจากแวดวงต่างๆ เข้ามาลงรับสมัครในพรรค ซึ่งจากการวิเคราะห์ รศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้บอกเอาไว้ว่า ประโยชน์ของบุคคลพวกนี้ก็คือ เป็นตัวเรียกคะแนน โดยไม่ได้หวังว่าบุคคลเหล่านี้จะมีโอกาสเข้ามานั่งในสภาฯ ได้จริงๆ

“ผมเชื่อว่าการเอาคนจากวงการกีฬาเข้ามานั้น ก็เป็นการหวังที่จะดึงคะแนนจากกลุ่มที่ชื่นชอบกีฬา แต่ถ้ามองในแง่ของพรรคการเมือง ก็เป็นการนำเอาชื่อเสียงของนักกีฬามาเสริมแบรนด์ของพรรคด้วย และหวังจะได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์เป็นหลัก”

ส่วนแนวทางที่ 2 ก็คือการชูตัวผู้นำพรรค โดยเฉพาะพรรคใหญ่อย่างประชาธิปัตย์และเพื่อไทย ซึ่งมีเดิมพันกันสูงถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมเวลาผ่านตามถนนต่างๆ จึงมักเห็นรูปของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มากกว่าป้ายของผู้สมัครในพื้นที่เสียอีก เพราะฉะนั้น การหาจุดขายให้แก่ตัวผู้นำจึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่น ตัวนายอภิสิทธิ์ ก็ใช้ข้อได้เปรียบในฐานะนายกรัฐมนตรีภาพดีมาเป็นเครื่องมือการต่อสู้ว่า หากเลือกอภิสิทธิ์นโยบายดีๆ ที่รัฐบาลเคยทำเอาไว้ก็จะได้รับการสานต่อ ขณะที่ตัวผู้นำของพรรคเพื่อไทยนั้น รศ.ตระกูล อธิบายว่าในช่วงต้นๆ นั้นมีการพยายามเล่นกับภาพของผู้หญิง ด้วยการชูประเด็น นารีกู้ชาติหรือขัตติยนารีขี่ม้าขาว เพื่อหวังให้กลุ่มผู้หญิงเข้ามาสนับสนุน

“ถ้าสังเกตป้ายของพรรคประชาธิปัตย์ เขาจะทำสลับกัน อย่างในเขต กทม. ต้องมีรูปนายกฯ อภิสิทธิ์เคียงข้างเพราะเขาต้องการขายตัวคุณอภิสิทธิ์ ขณะที่เพื่อไทยก็ขายคุณยิ่งลักษณ์ ส่วน ส.ส.ก็จะมีการทำโปรเตอร์ของเขาเอง มันจะมี 2 แบบ ตัวอย่างโปสเตอร์ที่เป็นรูปคุณยิ่งลักษณ์เรียกว่า Them Advertising (แนวคิดหลักของการโฆษณา) เป็นการขายตัวพรรค ในขณะที่โปสเตอร์เฉพาะ ส.ส. เรียกว่าเป็น Product Advertising (สินค้าในการโฆษณา) ก็คือขายโปรดักต์ว่าเขตนี้คือคนนี้” ดร.ชลิต ลิมปนะเวช คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยอธิบาย

และนอกจาก 2 พรรคใหญ่แล้ว พรรคเล็กๆ หลายพรรคก็มีการชูผู้นำพรรคเป็นฐานของการต่อสู้ ก็คือพรรครักษ์สันติของร.ต.อ.ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ซึ่งมีการขายภาพของนักการเมืองมือสะอาด ที่ไม่ยุ่งกับการคอร์รัปชัน สังเกตได้จากป้ายหาเสียงที่มีการนำรูปไม้บรรทัดไปวางหลังรูปของประธานพรรค ซึ่งเรื่องนี้ กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ชี้ว่านี่ถือเป็นลักษณะเฉพาะตัวของผู้นำพรรคที่มีภาพลักษณ์ที่ชัดเจน จึงทำให้สามารถหาเสียงในแนวทางนี้ได้

“นโยบายพวกนี้ หากเป็นคนอื่นพูดก็คงไม่มีน้ำหนักมากนัก แต่เนื่องจากพรรคนี้มีภาพลักษณ์ของแบรนด์เป็นตัว ดร.ปุระชัยที่มีบุคลิกภาพเป็นคนดูน่าเชื่อถือ จึงทำให้นโยบายที่ดูธรรมดา กลับมีความน่าเชื่อถือปนอยู่ด้วย”

เช่นเดียวกับพรรครักประเทศไทยของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่เน้นการขายแต่ตัวหัวหน้าพรรคล้วนๆ โดยใช้รูปลักษณ์อันดุดัน และพูดจาตรงๆ ของเขามาเป็นจุดขาย พร้อมกับการประกาศว่าตัวเองขอเป็นฝ่ายค้าน

“ในแง่ของตัวบุคคลถือเป็นแบรนด์ที่มีความชัดเจนในด้านการสื่อสารว่องไว เป็นข่าว มีสีสัน ป้ายและรูปที่ใช้สื่อถึงความดูเอาจริงเอาจัง แต่ในด้านของแบรนด์พรรครักประเทศไทย กลับมีน้อยคนมากที่จำชื่อพรรคได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแบรนด์ยังขาดต้นทุนทางประสบการณ์อยู่ แต่อย่างไรก็ตามการรับรู้ของประชาชนจะชัดเจนมากในมุมที่สื่อสารออกมาว่า ไม่ได้หวังอะไรมาก ไม่ได้ส่งผู้สมัครของพรรคมากมาย นอกจากขอโอกาสเข้าไปเป็นฝ่ายค้านตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลใดๆ ก็พอ”

3. ‘พรรค’ นี้เพื่ออะไร?

การวางตำแหน่งของพรรคการเมืองเอง ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย เพราะจะทำให้แต่ละพรรครู้ว่า ควรจะทุ่มเทสรรพกำลังของตัวเองไปไว้ที่ไหนเป็นหลัก และลงพื้นที่หาเสียงได้อย่างเต็มที่

โดยกรณีหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนมาก สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ นั่นคือการถือกำเนิดของพรรคภูมิภาค เช่น พรรคพลังชล ของนายสนธยา คุณปลื้ม ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีรากฐานมาจากบิดาที่เป็นเคยเป็นกำนันในตำบลแสนสุข จังหวัดชลบุรี ดังนั้นคะแนนที่พรรคนี้หวังเอาไว้มาจากพื้นที่ที่ตระกูลมีอิทธิพลอยู่นั่นเอง หรือพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินก็มีการโปรโมตตัวเองว่า เป็นพรรคของคนโคราช ขณะที่บางพรรคก็มุ่งเน้นหาเสียงไปที่เรื่องศาสนานิยม เช่น พรรคมาตุภูมิของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และพรรคแทนคุณแผ่นดินของ นพ.แวมาฮาดี แวดาโอะ ก็จะเน้นการทำคะแนนเสียงไปที่กลุ่มพี่น้องชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภายใต้เป็นหลัก

4. ยุคนี้ ‘แคมเปญหาเสียง’ ก็สำคัญ

ในยุคการเมืองสมัยใหม่ การหวังคะแนนแบบมาตัวเปล่า ขายชื่อพรรคนิดหน่อย ขายหน้าตาอีกเล็กน้อย ถือเป็นเรื่องหมดสมัยไปแล้ว นโยบาย คำขวัญ และสโลแกนกลายมาเป็นปัจจัยสูงสุดต่อการเอาชนะของพรรค ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องเน้นมากที่สุดก็คือ สั้น กระชับและจำง่าย เช่น กรณีของพรรคเพื่อไทยที่มีการนำข้อความดั้งเดิมอย่าง 'คิดใหม่ ทำใหม่' มาปัดฝุ่นใช้อีกครั้งเป็น 'ขอคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน อีกครั้ง' ซึ่งกอบกุลชี้ให้ว่าการใช้ข้อความแบบนี้ นอกจากจะมีประโยชน์ในการย้ำสารเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาตลอดแล้ว ยังเป็นการย้ำชื่อพรรคในอีกทางหนึ่งด้วย

เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพยายามสื่อสารด้วยข้อความเช่น 'เดินหน้าต่อไป ด้วยนโยบายเพื่อประชาชน' ซึ่งสะท้อนให้ประชาชนได้รับรู้ว่า ตอนนี้ประชาธิปัตย์ทำงานอยู่ หากเลือกประชาธิปัตย์ก็จะได้เดินหน้ากันไปต่อ หรือแม้แต่พรรคการเมืองที่ผู้นำพรรคไม่โดดเด่น อย่างพรรคภูมิใจไทย การขายด้วยนโยบายนั้นถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด และต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา สมาชิกพรรคหลายคนเข้าไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญๆ เพราะฉะนั้นการหยิบยกเอาโครงการของพรรคเช่น 'กล้ายาง พลิกชีวิตเกษตรกรไทย' หรือ 'ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 เปอร์เซ็นต์' จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องยากที่นำขึ้นหาเสียง

ที่สำคัญกลยุทธ์เหล่านี้ ไม่ได้ใช้เพียงแค่บรรดาพรรคการเมือง เพราะในกระแสไม่อยากเลือกใครเช่นนี้ ทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในฐานะของหัวขบวนนำกระแส ก็ได้หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็น โดยการสร้างคำขวัญ และแคมเปญ ตลอดจนมีการทำป้าย ‘โหวตโน’ ขนาดใหญ่ โดยบรรจุภาพของสิงสาราสัตว์จำนวนมาก ทั้งลิง สุนัข ตัวเงินตัวทอง ฯลฯ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า สัตว์เหล่านี้แหละที่จะเข้าไปเป็นตัวแทนของปวงชนในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิด ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากประชาชนค่อนข้างสูง

5. เมื่อโลกนั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้โลกอินเทอร์เน็ตและโซเซียลมีเดียนั้นได้กลายมาเป็นชีวิตปกติของคนเมืองไปแล้ว เพราะไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ก็ต้องเปิดโปรแกรมเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ตลอดเวลา และถ้าพูดถึงในแวดวงการเมืองหลายพรรคก็หยิบตรงนี้มาเป็นประโยชน์เพื่อจะได้เข้าถึงกับประชาชนให้มากที่สุด โดยกอบกุลได้ยกตัวอย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่เปิดทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของทั้งตัวพรรค และ บุคคลสำคัญของพรรค ก็ทำให้เห็นเกิดการรวมตัวของกลุ่มคนที่เหนียวแน่นและมีจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ก็จะกลายมาเป็นฐานเสียงสำคัญเวลาเลือกตั้งนั่นเอง
……….

พอเห็นทิศทางและกลยุทธ์การหาเสียงที่บรรดาพรรคการเมืองนำมาใช้กันบ้างแล้ว แต่แน่นอนว่าของแบบนี้จะได้ผลหรือไม่ก็คงจะไม่มีใครตอบได้ เพราะสุดท้ายแล้วคนที่จะเป็นผู้พิสูจน์ได้ก็คือ ประชาชนนั่นเอง
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK

วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554

'ปืนฉีดน้ำ' สงครามสายน้ำ+สงกรานต์ร่วมสมัย!?

'ปืนฉีดน้ำ' สงครามสายน้ำ+สงกรานต์ร่วมสมัย!?
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน10 เมษายน 2554 17:47 น.
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000044943


คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น





ถือว่า 'การเล่นน้ำ' เป็นอีกกิจกรรมที่ขาดไม่ได้ในวันสงกรานต์ของประเทศไทยยุคปัจจุบัน ซึ่งกลายเป็นสิ่งหนึ่งที่ชาวไทยและชาวต่างชาติทั่วสารทิศแห่แหนเข้ามาเริงร่ากับสายน้ำ

อุปกรณ์การเล่นน้ำยอดนิยมอย่าง 'ปืนฉีดน้ำ' นั้นก็ถูกพัฒนาตอบสนองความต้องการของผู้กระหายการเล่นน้ำสงกรานต์ในทุกเพศ ทุกวัย

เดิมนั้นปืนฉีดน้ำเป็นเครื่องมือใช้เล่น water warfare game ของเด็กๆ ชาวตะวันตกในช่วงฤดูร้อน ต่อมาได้มีการนำเข้ามาในประเทศไทยและถูกตีตราให้อยู่คู่กับประเพณีสงกรานต์มาหลายสิบปีแล้ว

และด้วยวิวัฒนาการของโลกที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ปืนฉีดน้ำก็ถูกปรับโฉมและคุณสมบัติให้เร้าใจผู้เล่นมากยิ่งขึ้น

ถ้าย้อนมองอดีตไปสัก 20-30 ปีที่ผ่านมา ปืนฉีดน้ำนั้นยังบรรจุน้ำได้น้อย และสามารยิงน้ำออกในระยะใกล้ๆ แต่ในปัจจุบันนั้นปืนฉีดน้ำนั้นเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ทั้งรูปร่างลักษณะที่ทันสมัย สีสัดสดใส มีให้เลือกขนาดกระทัดรัดไปจนถึงมโหฬาร ทั้งมีการนำการ์ตูนในจินตนาการมาแปลงโฉมเป็นปืนฉีดน้ำล่อตาล่อใจบรรดาเด็กๆ และผู้ใหญ่หัวใจเด็กกันทั่วหน้า

ด้านระยะการยิงที่เมื่อก่อนยิงไกลได้ไม่กี่เมตร แต่ด้วยกฎทางฟิสิกส์ก็ลดข้อจำกัดของระยะการยิงให้ไกลและแรงขึ้น มีระยะการยิงกว่า 15 เมตร

แต่หากไม่ระวังเจ้าของเล่นวันสงกรานต์นี้ก็สามารถนำมาซึ่งอันตรายได้ เช่น หากถูกยิงเข้าบริเวณดวงตา ฯลฯ ฉะนั้นภายใต้ความสนุกก็ต้องมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม และประเพณีอันดีงามของชาติไทยด้วย

กลไกกระดุกกระดิก

หากทำความเข้าใจกันอย่างจริงจังปืนฉีดน้ำนั้นเป็นของเล่นชนิดหนึ่งที่ไม่ได้มีความซับซ้อนแต่อย่างไร เพียงแค่ใช้นิ้วกระดิกไกแล้วยิง

บทความวิทยาศาสตร์ของฟิสิกส์ราชมงคล ได้เปิดเผยความเป็นมาของปืนฉีดน้ำว่า ก่อนปี 2523 นั้น ปืนยังมีแรงดันน้อย จึงทำให้ยิงน้ำออกไปในระยะสั้นๆ ทั้งยังมีขนาดเล็กเก็บน้ำได้น้อย ครั้นจะยิงก็ได้แค่ไม่กี่ครั้งต้องกลับมาเติมน้ำใหม่

มีกลไกพื้นฐานได้แก่ไกปืน ใช้สำหรับกดเพื่อฉีดน้ำ, ปั๊มน้ำขนาดเล็ก ที่ต่อกับท่อพลาสติก ทำหน้าที่ดูดน้ำจากที่เก็บ (ด้ามปืน), แรงดันของปั๊ม เพื่อบีบอัดน้ำให้ไหลแรงขึ้น และหัวฉีด ที่เป็นตัวฉีดน้ำออก

กระทั่งปี 2525 รอนนีย์ จอห์นสัน นักนิวเคลียร์ฟิสิกส์ ได้ค้นการทำงานของแรงดันน้ำ และกลายมาเป็นหลักการทำงานของปืนฉีดน้ำที่มีชื่อเรียกว่า 'ซูปเปอร์โชเกอร์' ที่สามารถยิ่งไกลกว่า 15 เมตร แนวคิดเพิ่มแรงดันให้น้ำภายในก่อนที่จะยิงน้ำออกไป ด้วยการปั๊มอากาศเข้าไปในถังบรรจุน้ำ ยิ่งปั๊มอัดอากาศเข้าไปได้มากเท่าไร แรงดันที่กระทำกับน้ำก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

ซึ่งทั้งหมดก็ถูกนำมาปรับใช้กับปืนฉีดน้ำ และได้การพัฒนารูปลักษณ์ ขนาด และกลไกอย่างต่อเนื่อง

สงกรานต์นี้..ต้องมีปืนฉีดน้ำสุดเจ๋ง!

“สินค้าอย่างปืนฉีดน้ำ ถึงแม้ว่าจะเป็นแค่ผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคก็ไม่ได้มียี่ห้อหรือแบรนด์ในดวงใจอะไรมากมาย แต่ปืนฉีดน้ำเป็นสินค้าเฉพาะกาลที่เป็นสัญลักษณ์แสดงหรือบ่งบอกได้ถึงสถานะทางสังคม (Status Symbols) ได้ด้วย เช่น ปืนฉีดน้ำรุ่นใหม่แบบทันสมัยที่มีกำลังฉีดสูงก็แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็ง ความทันสมัย ความทรงพลัง ความร่ำรวย และ อำนาจ

กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช อาจารย์หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แสดงทัศนะเกี่ยวกับเรื่องปืนฉีดน้ำเชิงการตลาดว่า คนบางกลุ่มนั้นไม่ได้ลืมพิธีกรรมเรื่องความกตัญญูในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่กลับมองว่าพิธีกรรมของเทศกาลสงกรานต์ต่างหากที่เปลี่ยนไป

กิจกรรมยอดฮิตอีกอย่างหนึ่งในวันสงกรานต์คือการที่เหล่าวัยรุ่นจะมาเดินถนนเพื่อสาดน้ำกัน ซึ่งปืนฉีดน้ำถูกแทรกเข้ามาในส่วนนี้เอง

“ปืนฉีดน้ำเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะเป็นอย่างยิ่ง กับพิธีกรรมสาดน้ำยุคใหม่ของคนในเมืองที่สามารถพกพาน้ำไปด้วย และใช้น้ำแต่ละครั้งที่ยิงออกไปอย่างพอควร ไม่ใช่หมดในการสาดเพียงขันเดียว จุดนี้มีข้อสังเกตว่า คนเมืองยุคใหม่ชอบความสัมพันธ์แบบผิวเผิน แบบการกด Like ใน facebook ที่ขอให้ฉันได้ทักนิดหน่อยแล้วก็จากกันไป ซึ่งเป็นแบบเดียวกับการเล่นปืนฉีดน้ำที่เดินไปตามข้างถนน ยิ่งใส่แต่ละคน คนละนิดละหน่อยแล้วก็จากไป”

สังเกตได้ว่า ปืนฉีดน้ำในแต่ละปีนั้นจะมีของใหม่ ประสิทธิภาพดี มีจุดเด่นที่น่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความที่เป็นสินค้าแฟชั่น และความต้องการของผู้บริโภคที่ไร้ขีดจำกัด

“ผู้บริโภคก็ล้วนแล้วแต่จำประสบการณ์จากปีที่แล้วได้ว่า ตนเองนั้นพอใจกับสินค้าปืนฉีดน้ำที่ตัวเองเคยซื้อมากน้อยเพียงใด ทำให้ในปีต่อๆ ไป ความต้องการของเขาก็เป็นตัวชี้นำให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายปืนฉีดน้ำต้องพัฒนาสินค้าของตนเองในรุ่นที่คาดการณ์จากปีที่แล้วว่า น่าจะตรงใจผู้บริโภค

“เป็นการตอบสนองในระดับความหวัง(Hope) และความฝัน (Dream) เลยทีเดียวว่า ปีนี้...ฉันจะมีอาวุธที่ทรงพลังที่สุดบนถนนช่วงสงกรานต์”

จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมปืนฉีดน้ำนั้นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ หรือคิดค้นลักษณะใหม่ๆ ออกมาจำหน่ายทุกปี

ขนาดไม่สำคัญ ปริมาณสำคัญกว่า

ยิ่งช่วงเทศกาลอย่างการหาซื้อปืนฉีดน้ำสักอันนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายแสนง่าย วินัย(สงวนนามสกุล) พ่อค้าปืนฉีดน้ำย่านคลองสาน กล่าวว่าปีนี้ยังขายได้ไม่ดีนัก เพราะลูกค้าส่วนมากจะนิยมซื้อและนำไปเล่นในวันสงกรานต์

“ตอนนี้ขายยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ปีที่แล้วจะขายดีวันสงกรานต์เลย วันที่ 13-14-15 เมษาฯ ลูกเค้าจะซื้อแล้วก็เอาไปเล่นเลย น้ำเราก็มีเติมให้เต็มถือเป็นการฉลองปีใหม่ไทยด้วยกัน”

ส่วนปืนฉีดน้ำที่ขายดีจะอยู่ในช่วงราคา 30-170 บาท โดยลูกค้าจะคำนึงถึงดีไซน์ ขนาด และราคาเป็นหลัก

“เขาจะถามราคาก่อนว่าเท่าไหร่ ดูราคาเป็นหลัก แล้วค่อยเลือกแบบอีกทีหนึ่ง ลูกค้าที่เป็นเด็กที่มากับพ่อแม่ส่วนมากก็จะซื้ออันใหญ่ๆ ตามใจลูกเลย แต่ถ้าเป็นพวกวัยรุ่นเขาจะการ์ตูนน่ารักๆ ดีไซน์แปลกๆ เขาจะชอบกัน ราคากัน อย่างตอนนี้ปืนฉีดน้ำร่มจะขายดี เดี๋ยวนี้เขานิยมอันเล็กๆ พกพาสะดวก”

ตลาดปืนฉีดน้ำนั้นสินค้ามีการเปลี่ยนแปลงทุกปี และปืนฉีดน้ำบางประเภทก็มีความรุนแรงจนรัฐบาลต้องจำกัดการขาย ด้านวินัยก็เคารพถึงข้อบังคับเช่นกัน

“เมื่อก่อนตอนนิยมเล่นแท็งก์พีวีซีฉีดน้ำ เราก็มีขายนะ แต่พอมีข่าวออกมาเว่าอันตราย เขาห้ามขายเราก็ปฏิบัติตาม ปืนฉีดน้ำมันจะออกมาล่อตาล่อใจตลอดแหละ ยิ่งถูกยิ่งดีเลยลูกค้าชอบกัน ยิ่งวันสงกรานต์บางคนซื้อแบบไม่ทันตั้งตัวก็มี เห็นเพื่อนซื้อ เพื่อนยุก็ซื้อกัน”

ที่ร้านของวินัยนั้น จำหน่ายปืนฉีดน้ำที่มีอัตราแรงดันต่ำถูกต้องตามกฎหมาย ลูกค้าของตลาดของปืนฉีดน้ำในปีนี้ คำนึงด้านดีไซน์และขนาดกะทัดรัดมากกว่าแรงดันสูง ยิ่งไกล

อีกโครงการหนึ่งเพื่อฉลองมหาสงกรานต์ไทยของกรุงเทพมหานคร ที่ชวนประชาชนทำสถิติร่วมเล่นน้ำบริเวณแยกราชประสงค์และใช้ปืนฉีดน้ำมากที่สุดในโลก เพื่อบันทึกลงกินเนสส์ บุ๊กด้านยุวดี(สงวนนามสกุล) นักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่ง กล่าวว่าปีนี้ตนและเพื่อนๆ จะร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่กัน

“ตั้งใจว่าจะไปร่วมเล่นสงกรานต์ที่ราชประสงค์กับเพื่อนๆ คะ เพราะจะได้มีส่วนร่วมสร้างสถิติโลกด้วย มันเป็นความภูมิใจว่าครั้งหนึ่งก็มีเราร่วมสร้างบันทึกครั้งสำคัญนะ”

สำหรับปืนฉีดน้ำเธอได้เตรียมพร้อมแล้วสำหรับสงครามน้ำครั้งนี้ และมั่นใจว่างานในครั้งนี้จะไม่เกิดความรุนแรง

“มีเตรียมไว้แล้ว เป็นอันเล็กๆ ยิงได้ไม่ไกลหรอกคะ รูปร่างคล้ายถ้วยไอศกรีมพอดี ได้ฟรีมาจากการทานไอศกรีม งานนี้ก็จัดอย่างยิ่งใหญ่ไม่น่าจะมีอันตรายเรื่องปืนฉีดน้ำความแรงสูง น่าจะมีการตรวจสอบเคร่งครัดอยู่แล้ว”

……….

อย่างไรก็ตาม การเล่นสาดน้ำหรือยิงด้วยปืนฉีดน้ำในเทศกาลสงกรานต์ ที่เป็นสงครามน้ำประจำปี แต่ต้องไม่ลืมที่จะรักษาประเพณีอันดีงามในเทศกาลสงกรานต์เอาไว้ อย่าปล่อยให้วัตถุ และค่านิยมใหม่ๆ มาพรากรากเหง้าของวัฒนธรรมไทยออกไป

ก่อนใช้อาวุธปืน(ฉีดน้ำ) กล่าวคำว่า “ขออนุญาตนะครับ/คะ” แล้วยิ้มกว้างๆ สักครั้ง...
>>>>>>>>>>>

……….

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554

เซ็กส์ ความรัก และความควรจะเป็น

มติชนรายวัน

พฤ. 24 มี.ค. 54

เซ็กส์ ความรัก และความควรจะเป็น

วรากรณ์ สามโกเศศ

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

(รวม 3 หน้า)

นับตั้งแต่มีหญิงชายเกิดขึ้นมาในโลก ความช้ำใจของหญิงและชายก็เป็นเงา คู่กันกับการมีสองเพศ สาเหตุหลักของน้ำตาก็เพราะทั้งสองฝ่ายมีความต้องการและมีความคิดแตกต่างจากกัน แต่ว่าแต่และฝ่ายมักทึกทักเอาว่าอีกเพศหนึ่งคิดเหมือนตนเอง ดังนั้นถ้า แต่ละฝ่ายเข้าใจจุดสำคัญของความไม่เหมือนกันแล้วความชอกช้ำก็อาจลดน้อยลงไป

มนุษย์ยืน 2 ขามีหน้าตาเหมือนมนุษย์ปัจจุบันนี้ตั้งแต่เมื่อ 150,000 ปีก่อน ก่อนหน้านี้และ 150,000 ปีที่ผ่านมา ธรรมชาติสร้างให้มนุษย์ผู้ชายมีหน้าที่สำคัญคือ procreate หรือผลิตลูกเพื่อให้ขยายเผ่าพันธุ์ให้ได้มากที่สุด นอกจากมนุษย์ตายเพราะสัตว์ร้ายง่ายดายเนื่องจากไม่มีเขี้ยวงาแล้วก็ยังตายด้วยสารพัดโรคอีก แถมภัยธรรมชาติอีกมากมาย

ผู้ชายจึงเปรียบเสมือนถูกฝังชิบไว้ในสมองให้นึกถึงเรื่องสำคัญอยู่เสมอ เรื่องหนึ่งนั่นก็คือการมีเซ็กส์ ถ้าไม่มีความต้องการทางเพศก็ไม่มีการ procreate ถ้าไม่มีความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจทางเพศ (ถ้าน่าเบื่อหน่ายเหมือนการออกกำลังกายแล้วมนุษย์สูญพันธุ์แน่นอน) แล้ว ก็คงไม่มีมนุษยชาติ

ธรรมชาติจึงสร้างให้ชายสามารถมีความสัมพันธ์ทางเพศกับหญิงได้ ในเวลาใดก็ได้ ในฤดูใดก็ได้ (สัตว์นั้นจะผสมพันธุ์ตามฤดูกาล) และกับคนแปลกหน้าได้โดยไม่ต้องมีความรัก

ในทางตรงกันข้ามหญิงนั้นธรรมชาติสร้างมาให้เป็นผู้ให้กำเนิดทารก สัญชาติญาณของการเป็นแม่จึงมีสูง ต้องการดูแลลูกตนเองและคนรอบข้าง ต้องการความรักความอ่อนโยน มีความใฝ่ฝันที่จะมีคนรักที่ซื่อสัตย์ จงรักภักดี ต้องการคนที่ฉลาดและมีทรัพยากรที่จะดูแลเธอและลูกได้มาเป็นคู่

หนังสือชื่อ The Mating Game (Why Men Want Sex & Woman Need Love โดย Alsan & Barbara Pease (2010) และ The Male Brain โดย Louann Brizendine (2010) เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของการเขียนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายชิ้นนี้

ฮอร์โมนชาย testosterone มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเด็กชายให้เป็นหนุ่มและทำให้เรื่องเพศเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต ระหว่างอายุ 9 ถึง 15 ปี ระดับของฮอร์โมน testosterone ในเลือดจะมีปริมาณเพิ่มถึง 20 เท่าตัว และลดลงเป็นลำดับเกือบเป็นเส้นตรงจนถึง 100 ปี

สิ่งพื้นฐานที่ผู้ชายต้องการเสมอจากผู้หญิงก็คือ (1) เซ็กส์ (2) บริการพื้นฐานเรื่องอาหาร ดูแล การเป็นแม่ ฯลฯ (3) มีคนรักใคร่และเป็น “หมายเลขหนึ่ง” เสมอ (4) มีเวลาที่จะอยู่คนเดียวโดยไม่ถูกคู่รบกวน

ไม่ว่าผู้ชายคิดหรือทำอะไรก็ตามจะกรองผ่านความต้องการ 4 อย่างนี้เสมอ เซ็กส์นั้นอยู่ในทุกอณูของความคิดของผู้ชายตั้งแต่เด็กจนแก่เนื่องจากชิบถูกฝังมาอย่างนั้นโดยธรรมชาติเพื่อ procreate

เหตุที่ต้องการบริการพื้นฐานของชายก็เพราะความอยู่รอดของตนเองในถ้ำแต่ ดึกดำบรรพ์นั้นจำเป็นต้องมีบริการนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเขาต้องเป็น “หนึ่ง” เสมอ และปรารถนาที่จะมีเวลาเป็นอิสระของตนเองอีกด้วย เพื่อสรวลเสเฮฮากับเพื่อนหรือเล่นของเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน (“เด็กกับผู้ใหญ่ผู้ชายแตกต่างกันตรงราคาของเล่น”)

สำหรับผู้หญิงนั้นเธอต้องการ 5 สิ่งจากผู้ชาย (1) ความรัก (2) ความซื่อสัตย์ (3) ความเมตตากรุณา (4) ความผูกพัน และ (5) การศึกษาและความฉลาด

ถ้าขาดความรัก ความซื่อสัตย์ และความผูกพัน คู่ของเธอก็คงทิ้งไปถ้ำอื่นจนหาความมั่นคงในชีวิตไม่ได้เพราะคงถูกทิ้งให้เธอและลูกอดตายแน่นอน เธอต้องการคนที่มีทรัพยากรและมีความเมตตากรุณาที่จะแบ่งให้เธอและลูก ถ้าฝ่ายชายไม่ฉลาดไม่มีอาหารที่เก็บตุนไว้มาแบ่งแชร์กับเธอ ก็ไม่เอามาเป็นคู่

การเลือกคนฉลาดมาเป็นพ่อของลูกจึงเท่ากับเป็นการคัดสรรยีนส์ที่มีคุณภาพโดยธรรมชาติจนสามารถสืบทอดมนุษยชาติ (มนุษย์ทำสิ่งที่อัศจรรย์ด้านเทคโนโลยีได้ แต่ไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติและเอาชนะใจตนเองได้) มาจนถึงทุกวันนี้ได้

โดยทั่วไปชายนั้นถูกขับเคลื่อนด้วย “สมองที่อยู่ข้างล่าง” จึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย จนหญิงหลงเชื่อว่าชายคิดเหมือนตนคือมีความรัก ความซื่อสัตย์ ความผูกพันเป็นพื้นฐาน รักกันไม่เสื่อมคลาย แต่เมื่อความตื่นเต้นหายไป “สมองที่อยู่ข้างล่าง” ของชายก็ทำงานใหม่ไปเรื่อย ๆ และหญิงก็ช้ำใจไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้ตระหนักว่าสิ่งที่ขับเคลื่อนผู้ชายนั้นไม่ใช่ความรัก หากเป็นเซ็กส์

ถ้าหญิงรู้ว่าชายต้องการอะไรอย่างแท้จริง ก็จะระวังความรู้สึกของตัวเอง ระวังการตกหลุมหลอกตัวเองว่าเขารักเธอ ซื่อสัตย์ต่อเธอ ผูกพันกับเธอ ความช้ำใจก็จะลดลงไปได้มาก

ชายก็เช่นเดียวกัน หากรักหญิงคนนั้นอย่างแท้จริงและตระหนักว่าตนเองถูกขับเคลื่อนด้วยสิ่งใดแล้วก็ต้องปรับเปลี่ยนความคิดและระวังตัวเองที่จะไม่ทำให้หญิงที่รักเจ็บช้ำ

ถ้าแต่ละฝ่ายเข้าใจสิ่งปรารถนาพื้นฐานของกันและกันเช่นนี้ น้ำตาคงจะไม่ไหลท่วมโลกเช่นทุกวันนี้อันเนื่องมาจากหญิงเข้าใจว่าชายรักเธอ เหมือนที่เธอรักเขา และหญิงมองข้ามการชอบความตื่นเต้นโลดโผนแปลกใหม่ของเขาไป

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้คือการวิเคราะห์ความเป็นจริงของชายและหญิงทั่วไป ดังที่เรียกว่า positive statement (พูดว่ามันคืออะไร เช่น ฝนตกเมื่อวาน) ไม่ใช่ข้อความที่เรียกว่า normative statement (พูดว่ามันควรจะเป็นอะไร เช่น ฝนไม่ควรตกเมื่อวาน)

การศึกษาอบรมบ่มเพาะทำให้ชายไม่จำเป็นต้องถูกขับเคลื่อนตลอดเวลาด้วยเซ็กส์ ความมีศีลธรรมจรรยาควรข่มความปรารถนาพื้นฐานที่จะ procreate ของมนุษย์ได้ ผู้ชายสามารถมีรักจริง มิได้มุ่งหวังแต่เพศสัมพันธ์ มีความผูกพัน มีความซื่อสัตย์ได้ และก็ควรเป็นเช่นนั้นเพื่อทำให้ความรักที่เขามีต่อหญิงนั้นยั่งยืนเพราะสนองตอบสิ่งที่เธอต้องการ

ชายชาตรีที่แท้จริงจึงควรมีสมองอยู่ในที่ ๆ ควรจะเป็นของมัน ไม่เคลื่อนย้ายลงมาต่ำกว่าเอวจนทำให้เกิดปัญหาชีวิตส่วนตัว ปัญหาครอบครัว และสร้างความเจ็บช้ำระกำใจให้แก่หญิงที่เป็นเพศเดียวกับแม่

--------------------------------------------

วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

MC...WE SHARE บูรณาการความรู้สู่ 'ซำสูง'

MC...WE SHARE บูรณาการความรู้สู่ 'ซำสูง'

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 - 5 ก.ย. 2553

การศึกษาในยุคปัจจุบันต้องปรับตัวเพื่อตอบรับกับความเปลี่ยนแปลง และต้องสร้างความแตกต่าง นำความรู้ไปปฏิบัติใช้ได้จริงและหากการศึกษาจะทำให้นักศึกษาได้เข้าใจทฤษฎีอย่างถ่องแท้ ได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้นำความรู้ไปพัฒนาชุมชนสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากจะเป็นเวทีทดสอบความสามารถเยาวชนของชาติแล้ว

มหาวิทยาลัยยังได้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในฐานะผู้ผลิตความรู้และนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมได้อีกทางหนึ่ง

โครงการ "MC...WE SHARE"ของภาควิชาการสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ภายใต้การดูแลของคณาจารย์ประจำภาควิชา ประกอบด้วย อาจารย์กอบกิจประดิษฐผลพานิช, ผศ.สุรางคนา ณ นคร,อาจารย์วิลาวัณย์ วโรภาษ และผศ.ดร.พนารัตน์ ลิ้มอาจารย์วัยหนุ่มสาวที่มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะเปิดโลกทัศน์และบูรณาการองค์ความรู้ที่ประสิทธิ์ประสาทให้นักศึกษาที่เรียนมาถึงระดับชั้นปีที่ 3-4 ได้นำทฤษฎีความรู้ที่ได้ไปแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนสังคม

อำเภอซำสูง จ.ขอนแก่น อำเภอใหม่ที่เพิ่งถูกตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 เป็นพื้นที่เป้า

หมายสำหรับโจทย์วิชาการสร้างแบรนด์ของนักศึกษาปี 3 และวิชาการตลาดเพื่อสังคมของนักศึกษาปี 4 ภาควิชาการสื่อสารการตลาดอำเภอเล็ก ๆ ที่ประชากรในพื้นที่มีรายได้ต่อหัว 40,293 บาทต่อปี ทำนาได้ปีละหน ส่วนเวลาที่เหลือ คนวัยแรงงานต้องออกไปขายแรงงานในกรุงเทพฯหรือต่างจังหวัด ถ้าไม่ไปไหน ก็ต้องกลายเป็น

คนว่างงานอยู่หลายเดือน เกิดเป็นปัญหาเศรษฐกิจต่อครอบครัว สร้างปัญหาสังคมเป็นทอด ๆ

ขณะที่กิจกรรมพานักศึกษากว่า 80 คนลงพื้นที่ สัมผัสท้องนา สวนผัก ใช้ชีวิตร่วมกับคนในชุมชนเป็นเวลา 3 คืน 4 วัน โดยมีโจทย์ว่า นักศึกษาปี 3 จะต้องสร้างแบรนด์ให้กับผักปลอดสารพิษซำสูง และนักศึกษาปี 4 มีภารกิจปั้นดินเป็นอาคารอเนกประสงค์ให้ชุมชน โดยร่วมสร้างร่วมทำกับคนในชุมชน ผ่านการบูรณาการความรู้จาก 5 วิชา ได้แก่การตลาดเพื่อสังคมการบริหารตราสินค้า (Brand) การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกการสร้างสรรค์งานสื่อสารการตลาดการส่งเสริมการขายและกิจกรรมทางการตลาดมาแก้ปัญหาและร่วมพัฒนากับชาวบ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่และข้าราชการในอำเภอซำสูงเป็นหน่วยอำนวยความสะดวกและให้การสนับสนุน

"ยุวลักษณ์ ศรีสุวรรณวิเชียร"นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ระบุว่า เรามีโจทย์ก่อนไป คือการสร้างแบรนด์ และการไปทำกิจกรรม อย่างนี้ทำให้เห็นภาพรวมของวิชาที่เรียนมาเหมือนกับเป็นการต่อจิ๊กซอว์ เพื่อทำให้เกิดผลงานชิ้นใหญ่

นอกจากจะเป็นการบูรณาการความรู้แล้ว ในส่วนของชุมชน นอกจากจะได้ให้ความรู้ใหม่กับนักศึกษามหาวิทยาลัย ชุมชนยังได้รับคำแนะนำและไอเดียการสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพของชุมชน ซึ่งก็คือผักปลอดสารพิษ ที่แม้ปัจจุบันจะมีวางจำหน่ายในห้างค้าปลีกในจังหวัดขอนแก่นแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มีชื่อเสียงมากพอ

"ไกรสร กองฉลาด"นายอำเภอซำสูงระบุว่า ที่ซำสูงปลูกข้าวได้เพียงปีละครั้งใช้เวลา 4 เดือน แต่อีก 8 เดือน คนก็ไม่มีอะไรจะทำ แต่ผักปลอดสารพิษ ปลูกได้ทั้งปี แต่ตอนนี้ชุมชนยังขาดความเข้าใจในเรื่องการตลาด ก็ทำให้ขายลำบาก การที่นักศึกษาได้ไปสัมผัสกับพื้นที่จริง และนำมาสร้างเป็นแผนการตลาด การสร้างแบรนด์ให้กับผักปลอดสารพิษซำสูงนั้นเป็นเรื่องน่าประทับใจมาก เพราะจากที่นั่งฟังการนำเสนอแผนการสร้างแบรนด์ของน้อง ๆ ทำให้เห็นถึงความตั้งใจ จริงจังและคิดอย่างเป็นระบบ

"ผมเห็นถึงความจริงจัง ตั้งใจ การวิเคราะห์ปัญหา มองปัญหาของน้อง ๆไม่ต่างจากคนในพื้นที่ จะว่าไปแล้วข้าราชการในพื้นที่ยังวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง (SWOT) ไม่ได้เท่าเด็กเหล่านี้เลย"นายอำเภอไกรสรกล่าว

เพราะนอกจากจะได้ไปสัมผัสชีวิตชาวชนบท ได้ไถนา ปลูกผัก ทำกิจกรรมกับน้องนักเรียนในชุมชน ไปเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 13-16 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อนำมาทำแผนการสร้างแบรนด์แล้ว นักศึกษายังต้องกลับมาทำแผนและนำเสนอผลงานต่อหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์และนายอำเภออีกครั้ง เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมาด้วย

"ดร.ศิริกุล เลากัยกุล"ที่ปรึกษากลยุทธ์การสร้างแบรนด์และองค์กร บริษัท เดอะแบรนด์บีอิงค์ คอนซัลแตท จำกัด กล่าวถึงผลงานของนักศึกษาทั้ง 5 กลุ่มว่า นี่คือความหวังของระบบการศึกษาไทย การเรียนรู้แบบนี้มันให้ผลเกินความคาดหมายจากที่เคยมาบรรยายเรื่องแบรนด์ให้กับนักศึกษาก่อนลงพื้นที่จริง ก็มีความกังวลอยู่ว่านักศึกษาจะเข้าใจในระดับไหน เพราะเรื่องธุรกิจ เรื่องแบรนด์ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พอมาฟังการนำเสนอผลงานวันนี้แล้ว พวกเขาทำได้ดีมาก และต้องชื่นชมอาจารย์ที่ได้สร้างความเชื่อมั่น ศรัทธาจนทำให้เด็ก ๆ ลุกขึ้นมาทำอะไรได้ขนาดนี้

"ถ้ามีโครงการอย่างนี้ให้ได้ปีละ 1 ตำบล 1 โครงการ ก็จะเป็นโอกาสช่วยชาติได้มหาศาลเลย"ดร.ศิริกุลกล่าว การบูรณาการความรู้ การคิดอย่างเป็นระบบ มีกระบวนการ และการได้มีโอกาสสัมผัสของจริง พื้นที่จริง ลงมือทำจริง ๆนอกจากจะทำให้นักศึกษาภาควิชาสื่อสารการตลาดของสถาบันแห่งนี้ได้ทบทวนความรู้ที่เล่าเรียนมา ยังเป็นการสร้างประสบการณ์ทางสังคมให้กับนักศึกษาและน่าจะดีมากขึ้นอีก หากจะมีการติดตามผล และทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชุมชนได้อยู่รอด พึ่งพาตัวเองได้ โดยมีผลงานของนักศึกษาเหล่านี้เป็นแบ็กอัพ--จบ--


วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สื่อสังคม (Social Media)


สื่อสังคม (Social Media)

อ.กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช[1]

คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมืองช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ทุกท่านที่ใช้สื่อสังคม (Social Media) ในช่วงดังกล่าว คงได้ทราบถึงความสำคัญของสื่อประเภทนี้ ทั้งในการใช้เพื่อหาข้อมูลข่าวสาร หรือ การใช้เพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สื่อสังคมที่นิยมใช้มากที่สุด คงหนีไม่พ้นสื่อสังคมที่เรียกว่า Facebook และ Twitter ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการสื่อสังคมชั้นนำในระดับโลก รูปแบบการให้บริการสื่อสังคมของผู้ให้บริการหลัก ๆ ทุกรายจะเน้นการนำเอาเทคโนโลยีเป็นสื่อที่ตอบสนองการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Relationship) ซึ่งรูปแบบการให้บริการจะเป็นการให้บริการการเผยแพร่ข้อความ ข่าวสาร ภาพ และ สื่อต่าง ๆ ผ่านเว็บไซต์ พร้อมทั้งมีระบบเชื่อมโยงเครือข่ายผู้สนใจประกอบกันกับส่วนการเผยแพร่ ทำให้เป็นสื่อที่มีกลุ่มทางสังคมประกบติดอยู่ด้วย

สื่อ Social Media ที่นิยมใช้หลัก ๆ ในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ๆ คือ

1.กลุ่มเว็บไซต์เพื่อการสื่อสารแบบเครือข่ายโดยตรง ที่เรียกว่า สื่อเครือข่ายสังคม (Social Networking Media) เช่น Facebook, Windows Live Spaces, Hi5

2.กลุ่มเว็บไซต์แสดงข้อความ(Blogs) ที่เป็นเว็บไซต์บทความทั่วไปที่มีการโต้ตอบ แลกเปลี่ยนให้ความเห็นกันได้ เช่น Blogger, WordPress และมีกลุ่มเว็บไซต์ประเภทนี้ แต่แตกเป็นประเภทย่อย ๆ แยกออกมาเช่น เว็บไซต์แสดงข้อความสั้น (Micro-blogging) อย่าง Twitter

3.กลุ่มเว็บไซต์มัลติมีเดียที่มีภาพ เสียง คลิป ไฟล์ต่าง ๆ ขึ้น Upload และแบ่งปันกัน (Share) เช่น YouTube, slideshare, Flickr, Photobucket, Picasa

4.กลุ่มเว็บไซต์เพื่อความร่วมมือเฉพาะแบบ เช่น สารานุกรมออนไลน์ Wikipedia

ซึ่งในปีนี้ (2553) ทั้ง Facebook และ Twitter ได้เข้ามาแทนที่ผู้ให้บริการสื่อสังคม (Social Media) เดิมอย่าง Windows Live Spaces และ Hi5 ที่ได้รับการพูดถึงน้อยลงในช่วงปีที่ผ่านมา โดย Facebook มีผู้ใช้บริการ (Registered Users) ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านคน และTwitter มีผู้ใช้บริการทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 75 ล้านคน ส่วน Windows Live Spaces ที่มีค่ายSoftware ใหญ่อย่าง Microsoft เป็นเจ้าของหนุนหลังแต่ก็มีผู้ใช้บริการทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 120 ล้านคน[2] ซึ่งถือว่าน้อยกว่า Facebook เป็นอย่างมาก

Twitter ตัวจริงเรื่องข้อความสั้น (Micro-blogging)

Twitter เป็นเว็บไซต์สื่อสังคม (Social Media) ที่มีลักษณะใช้รูปแบบการให้บริการเผยแพร่ข้อความสั้น (Micro-blogging) ผสมผสานกับการทำเป็นสื่อเครือข่ายสังคม (Social Networking Media) บางส่วนโดยผู้ที่เผยแพร่ข้อความเองก็สามารถเลือกติดตามผู้ที่เผยแพร่ข้อความคนอื่น ๆ ได้ด้วย โดยผู้ใช้ Twitter จะเรียกผู้ติดตามว่า Follower

Twitter มีลักษณะการนำเสนอข้อความแบบข้อความสั้น ๆ โดยผู้ใช้จะถูกกำหนดให้สามารถพิมพ์ข้อความนำเสนอได้ครั้งละเพียง 140 ตัวอักขระ ซึ่งคุณลักษณะนี้กลับทำให้ Twitterเองเป็นที่นิยมมาก จากกระแสการนิยมเข้าถึงสื่อสังคม (Social Media) ผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่สมัยใหม่ (Smartphone) เพราะด้วยข้อความที่สั้นและไม่มีการแสดงรูปภาพหรือไอคอนภาพนิ่งหรือเคลื่อนไหว ทำให้สะดวกต่อการโหลดข้อมูลผ่านระบบโทรศัพท์ให้รวดเร็ว อีกทั้งการใช้ผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่สมัยใหม่ยังไม่ได้ผ่านการต่อผ่านเว็บไซต์ตรง แต่เป็นการต่อผ่าน Application ที่ทำไว้โดยเฉพาะอีกด้วย

ทั้งนี้จากสถิติที่รวบรวมโดยนิตยสาร Positioning เดือนมิถุนายน 2553 รายงานว่า ผู้ใช้Twitter ผ่านโทรศัพท์มือถือ ( Smart Phone ) ทั่วโลกมี 37% ในขณะที่คนไทยมีสัดส่วนการใช้Twitter ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สมัยใหม่ (Smartphone) สูงถึง 60%[3] จากสถิตินี้เห็นได้ว่า ความนิยมใน Twitter ของคนไทยมีอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับชาติอื่น ๆ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สมัยใหม่ (Smartphone) เป็นจำนวนมากก็เป็นได้ (โทรศัพท์เคลื่อนที่สมัยใหม่ ที่นิยมในประเทศไทย คือโทรศัพท์ BB BlackBerry และโทรศัพท์iPhone)

เนื่องจาก Twitter เป็นการแสดงข้อความสั้นเป็นหลักเพียงอย่างเดียว จึงได้มีการใส่คำสั้น เพื่อแสดงและค้นหากลุ่ม ด้วยรูปแบบพิเศษขึ้นมา ที่เรียกว่า “การใส่คำสั้นๆ เพื่อบ่งชี้ประเด็น” หรือที่เรียกว่า “Tag” หรือ “Hash Tag” โดยการใส่คำสั้นประเภทนี้เปรียบเสมือนหัวเรื่องที่ทำให้สังเกตง่าย และ สามารถใช้การค้นหาได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีผู้รวบรวมสถิติคำยอดนิยม“Tag” ในแต่ละวันที่ใช้ในประเทศไทยเอาไว้ที่เว็บไซต์http://www.lab.in.th/thaitrend/ โดยสามารถใช้ศึกษาถึงประเด็นยอดนิยมของคนที่ใช้สื่อเครือข่ายสังคม Twitter ในแต่ละวันได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง พ.ศ.2553 ที่ผ่านมา คำสั้นยอดนิยมอย่าง “เสื้อแดง” “เสื้อหลากสี” “เรารักในหลวง” ก็ถูกใช้อยู่ตลอดเป็นอันดับต้นๆ

Face book หนังสือรุ่น ที่ไม่ใช่แค่หนังสือรุ่นอีกต่อไป

Facebook มีจุดกำเนิดมาจากการที่ Mark Zuckerberg นักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ในประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มเพื่อนได้พัฒนาเว็บไซต์ที่ให้บริการเครือข่ายเพื่อนขึ้นมา โดยมีจุดมุ่งหมายแรกจะให้เป็นเสมือนหนังสือรุ่น (Face book) ซึ่งต่อมาได้แพร่หลายไปยังโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จนต่อมาก็เปิดให้บุคคลทั่วไป กิจการธุรกิจ นักการเมือง กลุ่มผู้มีความนิยมในเรื่องเดียวกัน ใช้ได้อย่างอิสระ

Facebook มีลักษณะที่เป็นเว็บไซต์เพื่อการสื่อสารแบบมีเครือข่ายโดยตรง ที่เรียกว่า สื่อเครือข่ายสังคม (Social Networking Media) โดยผู้ใช้จะสามารถหาเพื่อน และ มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนได้สะดวกผ่านระบบการให้บริการต่าง ๆ ที่สนับสนุนทั้งการรายงานข้อความสั้น บทความ ภาพ คลิปวีดีโอ เกมส์ ฯลฯ ในการสร้างกลุ่มเครือข่าย Facebook จะมีลักษณะที่เอื้อต่อการเพิ่มจำนวนเครือข่ายของผู้ใช้เอง โดยการเข้าไปขอเป็นเพื่อนกับคนที่เราสามารถสืบค้นต่อ ๆกันไปได้เรื่อย ๆ ทำให้ Facebook ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทั้งในทางการตลาดและการเมือง จนมีการกล่าวว่า การประท้วงของกลุ่มคนเสื้อหลากสีในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ2553 ที่ผ่านมานี้เป็น ม็อบเฟซบุ๊กที่พัฒนาหาผู้ร่วมชุมนุมได้มากกว่าสมัยยุค “ม๊อบโทรศัพท์มือถือ” ในยุคพฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 เป็นอย่างมาก

Facebook สามารถแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนกันได้สะดวกผ่านระบบการใช้ของ Facebook เองที่ใช้ง่าย สร้างเป็นพื้นที่แห่งการแสดงและเผยแพร่รูปภาพ บทความ และ คลิปวีดีโอมาประกอบการแลกเปลี่ยนความเห็นได้ ได้อย่างสะดวก ทั้งยังสามารถใช้เป็นช่องทางส่งต่อความคิดเห็นให้แพร่กระจาย (Viral Communications)ทำให้ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง พ.ศ.2553 ที่ผ่านมาFacebook กลายเป็นสนามรบแห่งการแสดงออกทางความคิดด้านการเมืองอย่างชัดเจน

นักการเมืองและการรายงานข่าวการเมือง กับสื่อสังคม (Social Media)

เนื่องจากธรรมชาติของสื่อสังคม (Social Media)มีลักษณะที่เน้นรูปแบบการสร้างความสัมพันธ์กับเครือข่าย อีกทั้งยังสามารถเพิ่มพูนความสัมพันธ์และประสบการณ์ ตามหลักการตลาดเชิงความสัมพันธ์และประสบการณ์ (Relationship and Experimental Marketing) ให้กับแบรนด์ตัวนักการเมืองเอง นักการเมืองไทยหลายคนก็ใช้สื่อสังคม (Social Media) ในการส่งข่าว สื่อสาร และ ทำการตลาดในกับตัวเอง เช่น พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ที่ใช้สื่อเครือข่ายสังคมอย่าง Twitter (https://twitter.com/thaksinlive) ในการแสดงความคิดเห็นของตัวเอง ในทางการเมืองมาโดยตลอดช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี 2552-2553 โดยมีผู้ติดตาม (Follower) ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2553 อยู่ถึง 111,575 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับนักการเมืองรายอื่น ๆ

ในขณะที่ผู้เป็นสมาชิกติดตาม Twitter (Follower) กับนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (http://twitter.com/pm_abhisit) มีจำนวนอยู่ที่ 109,672คน ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2553 และ มีผู้ที่เป็นสมาชิก Facebook กับนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ( Abhisit Vejajiva) ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2553 มีจำนวนถึง 338,840 คนซึ่งก็ถือว่ามีจำนวนสูงมากเมื่อเทียบกับกลุ่มนักการเมืองผู้ใช้ Facebook รายอื่น ๆ นอกจากนี้ก็มีการตั้งกลุ่มผู้สนับสนุน นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใน Facebook กลุ่ม I Support PM Abhisit ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2553 มีจำนวนอยู่ที่ 103,503 คน ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ชี้ให้เห็นการวัดความนิยม (Rating) ในตัวนักการเมืองได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม มีนักการเมืองบางส่วนที่ยังไม่สนใจที่จะใช้ช่องทางสื่อสังคม (SocialMedia) ในการสื่อสาร เช่น นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ยังไม่มี Facebook Twitter และ Weblog เป็นของตัวเอง (ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2553) [4] โดยได้มีการให้เหตุผลประกอบว่า กำลังอยู่ระหว่างการวางหลักการในการใช้ให้เป็นมาตรฐานอยู่ ซึ่งก็จัดได้ว่าเป็นนักการเมืองในกลุ่มที่ค่อนข้างระมัดระวังในการใช้ แต่ก็อาจจะถือว่าช้าเกินไปและอาจจะเสียเปรียบในด้านการสื่อสารเมื่อเทียบกับนักการเมืองคนอื่น ๆ ที่ใช้สื่อสังคม (Social Media)ไปก่อนหน้าแล้ว

นอกจากกลุ่มนักการเมืองที่มีการใช้สื่อประเภทนี้มากขึ้นแล้ว ในส่วนของกลุ่มนักข่าวภาคสนามที่เคยรายงานข่าวการเมืองในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง พ.ศ.2553 อย่าง นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ นักข่าวภาคสนาม ในเครือเนชั่น ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ใช้ Twitter(http://twitter.com/noppatjak ) ในการรายงานข่าวอย่างสม่ำเสมอ โดยมีผู้ติดตาม (Follower) ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2553 อยู่ 19,118 คน โดยนอกจากนภพัฒน์จักษ์ แล้ว นักข่าว และสำนักข่าวเกือบทุกสำนักก็ล้วนแล้วแต่ปรับตัวใช้สื่อสังคม (Social Media) ในการรายงานข่าวด้วยกันทั้งหมด

ซึ่งอาจจะสรุปได้ว่าอิทธิพลของสื่อสื่อเครือข่ายสังคมต่อการรายงานข่าวสารนั้น เกิดขึ้นจากลักษณะพื้นฐานของสื่อประเภทนี้เองที่นี้ สามารถส่งต่อข้อมูลข่าวสารในแบบทันทีทันใด (Real-time) ทำให้เกิดการรับรู้ ถกเถียง และแสดงความคิดเห็นในวงเครือข่ายได้กว้างขวาง ซึ่งตรงรูปแบบของผู้ให้บริการสื่อประเภทนี้จะมีช่องทางในการแสดงความคิดเห็นโต้ตอบกันด้วย อันเป็นการเปิดพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิด และสร้างการรวมกลุ่ม ดังเห็นได้จากปรากฏการณ์ ม็อบเฟซบุ๊ก หรือ ม็อบออนไลน์[5]

เรื่องเกี่ยวกับสื่อสังคม (Social Media) ทั้งหมดในข้างต้นนี้ คงจะไม่เป็นการเกินเลยไปที่ผู้เขียนจะกล่าวว่า เป็นเพียงหนึ่งในพันส่วนของปรากฏการณ์เกี่ยวกับสื่อสังคม (Social Media) ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและในสังคมโลกช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากท่านผู้สนใจท่านใด อยากจะรู้จักสื่อสังคม (Social Media) มากกว่านี้ คงไม่มีวิธีใดเหมาะสมไปกว่าการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสื่อสังคม (Social Media) และสังเกตปรากฏการณ์นี้ด้วยตนเอง

อ้างอิง

- นิตยสาร Positioning ฉบับที่ 073 เดือนมิถุนายน 2553 หน้า 32 “ยุคนี้ต้อง 140 ตัวอักษร”

- นิตยสาร Positioning ฉบับที่ 073 เดือนมิถุนายน 2553 หน้า 44 “ไก่อู สนั่นออนไลน์”

- Wikipedia. List of social networking websiteshttp://en.wikipedia.org/wiki/List_of_social_networking_websites สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553

- Joe Clift. Social media present and future: Insights from Social Media World Forum Europe2010 http://www.warc.com/ สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2553

- ASTVผู้จัดการออนไลน์ ยัน “Facebook รมต.ไอซีทีของปลอมhttp://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9530000086669 สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2553

- นิตยสาร Positioning รู้จักม็อบออนไลน์ http://www.positioningmag.com/magazine/Details.aspx?id=87138 สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2553



[1] หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์

[2] Wikipedia. List of social networking websiteshttp://en.wikipedia.org/wiki/List_of_social_networking_websites สืบค้นเมื่อวันที่ 29มิถุนายน 2553

[3] นิตยสาร Positioning ฉบับที่ 073 เดือนมิถุนายน 2553 หน้า 32 “ยุคนี้ต้อง 140 ตัวอักษร”

[4] ASTVผู้จัดการออนไลน์ ยัน “Facebook รมต.ไอซีทีของปลอมhttp://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9530000086669 สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2553

[5] รู้จักม็อบออนไลน์ http://www.positioningmag.com/magazine/Details.aspx?id=87138สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2553