วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เปิดกลเม็ดเด็ดพราย 'พรรคการเมือง'

เปิดกลเม็ดเด็ดพราย 'พรรคการเมือง' กลยุทธ์เอาใจเรียกคะแนนจาก 'ประชาชน'

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน26 พฤษภาคม 2554 18:29 น.

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000064524

อีกเพียงหนึ่งเดือนกับไม่กี่วัน ประชาชนคนไทยก็ได้โอกาสทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ ในฐานะของพลเมืองที่ดีของระบบประชาธิปไตยกันอีกแล้ว เพราะในวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2554 ก็จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แน่นอนงานนี้ ดูจะได้รับความสนใจจากบรรดานักเลือกตั้งมากพิเศษ เนื่องจากพวกเขาได้ห่างหายไปจากพิธีกรรมแห่งศักดิ์ศรีนี้มานานกว่า 3 ปี จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมครั้งนี้ถึงมีพรรคการเมืองส่งสมัครสมาชิกเข้ามาแข่งขันเป็น ส.ส. ชุดที่ 24 มากถึง 40 พรรคเลยทีเดียว

โดยแต่ละพรรคต่างก็มีวัตถุประสงค์สำคัญ นั่นคืออยากจะตอบแทนบุญคุณของบ้านเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่มาแสนนาน ด้วยการเสียสละตัวเองมาเพื่อเป็นตัวแทนประชาชนในการบริหารเงินงบประมาณนับหลายแสนล้านบาท

จากความตั้งใจอันแรงกล้า บวกกับผลประโยชน์อันแสนหวาน จึงทำให้แต่ละพรรคของทุ่มทุนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเล็ก-กลาง-ใหญ่ ตั้งใหม่หรือตั้งเก่าต่างก็รีบงัดกลยุทธ์นานัปการเพื่อดูดเสียงของพี่น้องประชาชนมาไว้กับตัวให้จงได้

เอาง่ายๆ ไม่ต้องไปดูไกลที่ไหน แค่ป้ายหาเสียงอย่างเดียว ก็จะพบว่ามากไปด้วยลีลาและสไตล์สุดๆ อย่างบางพรรคก็หยิบเอาคำขวัญหรือนโยบายมาเล่น หรือไม่ก็ใช้วิธีขยี้จุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้ประชาชนหันกลับมาเลือกตนแทน ชณะที่บางพรรคก็ใช้วิธีขายจุดเด่นของหัวหน้าทีมว่า โดดเด่นกว่าใครเพื่อน ส่วนบางคนที่เคยเป็นใหญ่เป็นโต หรือมีชื่อเสียงในวงการต่างๆ มาก่อนก็พยายามเรียกเสียงฮือฮาด้วยการใช้ตัวช่วยเป็นตัวมัสคอตบ้าง เป็นสัตว์บ้าง แล้วแต่โอกาสจะอำนวย

เพราะฉะนั้น เพื่อให้เห็นภาพของกลเม็ดเด็ดพรายที่พรรคการเมืองต่างๆ เรียงร้อยเข้ามาใช้ เพื่อหวังจูงใจประชาชนให้มาลงคะแนนเสียงให้ตัวเอง งานนี้ก็เลยขอสรุปยุทธวิธีในการจูงใจเหล่านี้ออกมาเป็นข้อๆ เสียเลย จะได้รู้กันว่ามุกนี้ของบรรดานักเลือกตั้งจะถึงใจมวลชนจริงๆ หรือไม่

1. ‘ตัวเลข’ นั้น สำคัญไฉน

เคยสงสัยไหมว่า พอถึงเวลาเลือกตั้งขึ้นมาเมื่อใด แต่ละพรรคถึงพยายามจะแย่งตัวเลขสมัครต้นๆ มาไว้ครองให้ได้ โดยเฉพาะเลขหลักเดียว ซึ่งเหตุผลก็เหมือนกันหมดนั่นคือจำง่าย และประชาชนจะได้ไม่สับสนเวลาไปลงคะแนน

ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ไม่ว่าเลขจะดีหรือไม่ก็ไม่เห็นจะมีผลต่อคนเลือกสักเท่าไหร่ ตัวอย่างเช่นกรณีของนายปราโมทย์ ไม้กลัด ซึ่งลงสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2543 ก็ได้หมายเลข 151 แต่กลับได้คะแนนสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ คือ 421,515 เสียงเลยทีเดียว

หรืออย่างการเลือกตั้งสมัยก่อนที่เลือกแบบรวมเขต 1 เขต มี ส.ส. ได้ 3 คน ก็จะเห็นปรากฏการณ์ 3 คน 3 พรรคเกิดขึ้นบ่อยๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่า เอาเข้าจริงประชาชนก็ไม่ได้มีปัญหาจากการจำตัวเลข อย่างบรรดานักเลือกตั้งเป็นห่วงกันสักเท่าใด

อย่างไรก็ตาม แม้สถิติจะชี้ชัดออกมาเช่นนั้น แต่ดูเหมือนว่านักการเมืองจำนวนมากกลับไม่ค่อยเชื่อสักเท่าไหร่ว่า ประชาชนจะมีสติปัญญาพอที่จะจำหมายเลขแบบนั้นได้ โดยเฉพาะหากเป็นเลข 2 หลักแล้ว บางพรรคก็ถึงขั้นท้อกันเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้เอง กลเม็ดเกี่ยวกับตัวเลขจึงต้องถูกผลิตออกมา ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุด เห็นจะพ้นการชูนิ้ว เช่น พรรคเพื่อไทยก็ชูนิ้วชี้นิ้วเดียวก็เป็นเลข 1 แล้ว หรืออย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้หมายเลข 10 มาครอบครองก็ใช้วิธีชูนิ้วทั้งหมดขึ้นมาก็เป็นอันจบ แต่ทว่าดูเหมือนว่า ภายหลังพรรคเก่าแก่นี้จะกลัวประชาชนจะสับสน ก็เลยหันมาใช้วิธีมือข้างหนึ่งชูนิ้วเดียว อีกข้างกำนิ้วไว้ แล้วยกขึ้น แค่นี้ก็อ่านได้ว่า 1-0 แล้ว

แต่หากกรณีที่พรรคไหนได้ตัวเลขมากกว่า 10 การจะมาชูนิ้วก็คงจะเป็นเรื่องลำบากเกินไป และยิ่งหากเอานิ้วเท้าเข้ามาช่วยก็จะดูไม่สุภาพเข้าไปใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงต้องพยายามโยงตัวเลขนั้นให้เข้ากับชีวิตประจำวันให้

อย่างเลข 21 ของพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเซียนการเมืองต่างบอกเป็นเสียงเดียวว่าไม่ดีเอามากๆ แต่พอกลับมาถึงกุนซือพรรคตัวจริงอย่างนายบรรหาร ศิลปอาชา กลับมีการตีความเสียใหม่ว่าเลข 1 คือหยิน เลข 2 คือหยาง รวมกันเป็น 3 หมายถึงพลังอำนาจสูง แถมเขายังเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 อีกต่างหาก เพราะฉะนั้นเลขนี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นเลขมงคลแท้ๆ หรืออย่างพรรคภูมิใจไทยที่ได้เลข 16 ซึ่งถ้ามองแบบเผินๆ ก็ไม่มีอะไรน่าสนใจ ดังนั้นแกนนำพรรคก็เลยต้องหากลยุทธ์ที่ง่ายกว่าเดิม ซึ่งก็มาโป๊ะเช๊ะกับของคุ้นเคยของชาวบ้านแบบพอดิบพอดี นั่นคือเลข 16 ก็คือวันหวยออก ฉะนั้นถ้าประชาชนนึกอะไรไม่ออกก็ขอให้นึกถึงความร่ำรวยเข้าไว้ เพราะเลข 16 คือตัวแทนของความรวยนั่นเอง

2. ‘คน’ นั่นแหละที่ขายได้

ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน สิ่งที่สามารถขายได้เยอะสุด เวลาเลือกตั้งก็คือ คนที่อยู่ในพรรคนั่นเป็นใครบ้าง เพราะต้องยอมรับว่า บางคนก็ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า พรรคนี้ใครกันหนอที่เป็นหัวหน้าพรรค รู้แต่ว่าต้องเลือกพรรคนี้ เพราะคนโน้นคนนั้นลงสมัครในนามพรรค ดังนั้นกลยุทธ์ในการชูตัวบุคคลขึ้นมา จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ให้ความสำคัญ

และจากการที่เข้าไปสอดส่องไปทั่วสนามเลือกตั้งแล้ว ก็พบว่ากระบวนการดังกล่าวนั้นถูกนำมาใช้เป็น 2 แนวทางด้วยกัน ทางแรกก็คือการดึงคนดังจากแวดวงต่างๆ เข้ามาร่วมหัวจมท้ายกับพรรค เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ก็ทำการกวาดต้อนนักกีฬาจากแวดวงต่างๆ เข้ามาลงรับสมัครในพรรค ซึ่งจากการวิเคราะห์ รศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้บอกเอาไว้ว่า ประโยชน์ของบุคคลพวกนี้ก็คือ เป็นตัวเรียกคะแนน โดยไม่ได้หวังว่าบุคคลเหล่านี้จะมีโอกาสเข้ามานั่งในสภาฯ ได้จริงๆ

“ผมเชื่อว่าการเอาคนจากวงการกีฬาเข้ามานั้น ก็เป็นการหวังที่จะดึงคะแนนจากกลุ่มที่ชื่นชอบกีฬา แต่ถ้ามองในแง่ของพรรคการเมือง ก็เป็นการนำเอาชื่อเสียงของนักกีฬามาเสริมแบรนด์ของพรรคด้วย และหวังจะได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์เป็นหลัก”

ส่วนแนวทางที่ 2 ก็คือการชูตัวผู้นำพรรค โดยเฉพาะพรรคใหญ่อย่างประชาธิปัตย์และเพื่อไทย ซึ่งมีเดิมพันกันสูงถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมเวลาผ่านตามถนนต่างๆ จึงมักเห็นรูปของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มากกว่าป้ายของผู้สมัครในพื้นที่เสียอีก เพราะฉะนั้น การหาจุดขายให้แก่ตัวผู้นำจึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่น ตัวนายอภิสิทธิ์ ก็ใช้ข้อได้เปรียบในฐานะนายกรัฐมนตรีภาพดีมาเป็นเครื่องมือการต่อสู้ว่า หากเลือกอภิสิทธิ์นโยบายดีๆ ที่รัฐบาลเคยทำเอาไว้ก็จะได้รับการสานต่อ ขณะที่ตัวผู้นำของพรรคเพื่อไทยนั้น รศ.ตระกูล อธิบายว่าในช่วงต้นๆ นั้นมีการพยายามเล่นกับภาพของผู้หญิง ด้วยการชูประเด็น นารีกู้ชาติหรือขัตติยนารีขี่ม้าขาว เพื่อหวังให้กลุ่มผู้หญิงเข้ามาสนับสนุน

“ถ้าสังเกตป้ายของพรรคประชาธิปัตย์ เขาจะทำสลับกัน อย่างในเขต กทม. ต้องมีรูปนายกฯ อภิสิทธิ์เคียงข้างเพราะเขาต้องการขายตัวคุณอภิสิทธิ์ ขณะที่เพื่อไทยก็ขายคุณยิ่งลักษณ์ ส่วน ส.ส.ก็จะมีการทำโปรเตอร์ของเขาเอง มันจะมี 2 แบบ ตัวอย่างโปสเตอร์ที่เป็นรูปคุณยิ่งลักษณ์เรียกว่า Them Advertising (แนวคิดหลักของการโฆษณา) เป็นการขายตัวพรรค ในขณะที่โปสเตอร์เฉพาะ ส.ส. เรียกว่าเป็น Product Advertising (สินค้าในการโฆษณา) ก็คือขายโปรดักต์ว่าเขตนี้คือคนนี้” ดร.ชลิต ลิมปนะเวช คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยอธิบาย

และนอกจาก 2 พรรคใหญ่แล้ว พรรคเล็กๆ หลายพรรคก็มีการชูผู้นำพรรคเป็นฐานของการต่อสู้ ก็คือพรรครักษ์สันติของร.ต.อ.ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ซึ่งมีการขายภาพของนักการเมืองมือสะอาด ที่ไม่ยุ่งกับการคอร์รัปชัน สังเกตได้จากป้ายหาเสียงที่มีการนำรูปไม้บรรทัดไปวางหลังรูปของประธานพรรค ซึ่งเรื่องนี้ กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ชี้ว่านี่ถือเป็นลักษณะเฉพาะตัวของผู้นำพรรคที่มีภาพลักษณ์ที่ชัดเจน จึงทำให้สามารถหาเสียงในแนวทางนี้ได้

“นโยบายพวกนี้ หากเป็นคนอื่นพูดก็คงไม่มีน้ำหนักมากนัก แต่เนื่องจากพรรคนี้มีภาพลักษณ์ของแบรนด์เป็นตัว ดร.ปุระชัยที่มีบุคลิกภาพเป็นคนดูน่าเชื่อถือ จึงทำให้นโยบายที่ดูธรรมดา กลับมีความน่าเชื่อถือปนอยู่ด้วย”

เช่นเดียวกับพรรครักประเทศไทยของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่เน้นการขายแต่ตัวหัวหน้าพรรคล้วนๆ โดยใช้รูปลักษณ์อันดุดัน และพูดจาตรงๆ ของเขามาเป็นจุดขาย พร้อมกับการประกาศว่าตัวเองขอเป็นฝ่ายค้าน

“ในแง่ของตัวบุคคลถือเป็นแบรนด์ที่มีความชัดเจนในด้านการสื่อสารว่องไว เป็นข่าว มีสีสัน ป้ายและรูปที่ใช้สื่อถึงความดูเอาจริงเอาจัง แต่ในด้านของแบรนด์พรรครักประเทศไทย กลับมีน้อยคนมากที่จำชื่อพรรคได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแบรนด์ยังขาดต้นทุนทางประสบการณ์อยู่ แต่อย่างไรก็ตามการรับรู้ของประชาชนจะชัดเจนมากในมุมที่สื่อสารออกมาว่า ไม่ได้หวังอะไรมาก ไม่ได้ส่งผู้สมัครของพรรคมากมาย นอกจากขอโอกาสเข้าไปเป็นฝ่ายค้านตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลใดๆ ก็พอ”

3. ‘พรรค’ นี้เพื่ออะไร?

การวางตำแหน่งของพรรคการเมืองเอง ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย เพราะจะทำให้แต่ละพรรครู้ว่า ควรจะทุ่มเทสรรพกำลังของตัวเองไปไว้ที่ไหนเป็นหลัก และลงพื้นที่หาเสียงได้อย่างเต็มที่

โดยกรณีหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนมาก สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ นั่นคือการถือกำเนิดของพรรคภูมิภาค เช่น พรรคพลังชล ของนายสนธยา คุณปลื้ม ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีรากฐานมาจากบิดาที่เป็นเคยเป็นกำนันในตำบลแสนสุข จังหวัดชลบุรี ดังนั้นคะแนนที่พรรคนี้หวังเอาไว้มาจากพื้นที่ที่ตระกูลมีอิทธิพลอยู่นั่นเอง หรือพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินก็มีการโปรโมตตัวเองว่า เป็นพรรคของคนโคราช ขณะที่บางพรรคก็มุ่งเน้นหาเสียงไปที่เรื่องศาสนานิยม เช่น พรรคมาตุภูมิของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และพรรคแทนคุณแผ่นดินของ นพ.แวมาฮาดี แวดาโอะ ก็จะเน้นการทำคะแนนเสียงไปที่กลุ่มพี่น้องชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภายใต้เป็นหลัก

4. ยุคนี้ ‘แคมเปญหาเสียง’ ก็สำคัญ

ในยุคการเมืองสมัยใหม่ การหวังคะแนนแบบมาตัวเปล่า ขายชื่อพรรคนิดหน่อย ขายหน้าตาอีกเล็กน้อย ถือเป็นเรื่องหมดสมัยไปแล้ว นโยบาย คำขวัญ และสโลแกนกลายมาเป็นปัจจัยสูงสุดต่อการเอาชนะของพรรค ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องเน้นมากที่สุดก็คือ สั้น กระชับและจำง่าย เช่น กรณีของพรรคเพื่อไทยที่มีการนำข้อความดั้งเดิมอย่าง 'คิดใหม่ ทำใหม่' มาปัดฝุ่นใช้อีกครั้งเป็น 'ขอคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน อีกครั้ง' ซึ่งกอบกุลชี้ให้ว่าการใช้ข้อความแบบนี้ นอกจากจะมีประโยชน์ในการย้ำสารเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาตลอดแล้ว ยังเป็นการย้ำชื่อพรรคในอีกทางหนึ่งด้วย

เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพยายามสื่อสารด้วยข้อความเช่น 'เดินหน้าต่อไป ด้วยนโยบายเพื่อประชาชน' ซึ่งสะท้อนให้ประชาชนได้รับรู้ว่า ตอนนี้ประชาธิปัตย์ทำงานอยู่ หากเลือกประชาธิปัตย์ก็จะได้เดินหน้ากันไปต่อ หรือแม้แต่พรรคการเมืองที่ผู้นำพรรคไม่โดดเด่น อย่างพรรคภูมิใจไทย การขายด้วยนโยบายนั้นถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด และต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา สมาชิกพรรคหลายคนเข้าไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญๆ เพราะฉะนั้นการหยิบยกเอาโครงการของพรรคเช่น 'กล้ายาง พลิกชีวิตเกษตรกรไทย' หรือ 'ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 เปอร์เซ็นต์' จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องยากที่นำขึ้นหาเสียง

ที่สำคัญกลยุทธ์เหล่านี้ ไม่ได้ใช้เพียงแค่บรรดาพรรคการเมือง เพราะในกระแสไม่อยากเลือกใครเช่นนี้ ทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในฐานะของหัวขบวนนำกระแส ก็ได้หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็น โดยการสร้างคำขวัญ และแคมเปญ ตลอดจนมีการทำป้าย ‘โหวตโน’ ขนาดใหญ่ โดยบรรจุภาพของสิงสาราสัตว์จำนวนมาก ทั้งลิง สุนัข ตัวเงินตัวทอง ฯลฯ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า สัตว์เหล่านี้แหละที่จะเข้าไปเป็นตัวแทนของปวงชนในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิด ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากประชาชนค่อนข้างสูง

5. เมื่อโลกนั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้โลกอินเทอร์เน็ตและโซเซียลมีเดียนั้นได้กลายมาเป็นชีวิตปกติของคนเมืองไปแล้ว เพราะไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ก็ต้องเปิดโปรแกรมเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ตลอดเวลา และถ้าพูดถึงในแวดวงการเมืองหลายพรรคก็หยิบตรงนี้มาเป็นประโยชน์เพื่อจะได้เข้าถึงกับประชาชนให้มากที่สุด โดยกอบกุลได้ยกตัวอย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่เปิดทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของทั้งตัวพรรค และ บุคคลสำคัญของพรรค ก็ทำให้เห็นเกิดการรวมตัวของกลุ่มคนที่เหนียวแน่นและมีจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ก็จะกลายมาเป็นฐานเสียงสำคัญเวลาเลือกตั้งนั่นเอง
……….

พอเห็นทิศทางและกลยุทธ์การหาเสียงที่บรรดาพรรคการเมืองนำมาใช้กันบ้างแล้ว แต่แน่นอนว่าของแบบนี้จะได้ผลหรือไม่ก็คงจะไม่มีใครตอบได้ เพราะสุดท้ายแล้วคนที่จะเป็นผู้พิสูจน์ได้ก็คือ ประชาชนนั่นเอง
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น