วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2554

รุ่งหรือร่วง? 'ตลาดนัดจตุจักร' วันที่จะเปลี่ยนมือบริหาร ‘ทำเลทอง’

รุ่งหรือร่วง? 'ตลาดนัดจตุจักร' วันที่จะเปลี่ยนมือบริหาร ‘ทำเลทอง’
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน12 ธันวาคม 2554

จาก http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000158014





เป็นชนวนขัดแย้งกันมาสักพักใหญ่ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เกี่ยวกับการบริหารตลาดนัดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอย่าง 'ตลาดนัดจตุจักร' เพราะสัญญาเช่าที่กำลังจะหมดลงในสิ้นปี 2554 นี้ โดยระหว่างนั้นก็มีการเจรจาในเรื่องค่าเช่าในอัตราใหม่ ถือว่าเป็นปัญหาหนักไม่ใช่เล่น เนื่องจาก กทม. ต้องการจ่ายให้ค่าเช่าเพียงปีละ 79 ล้านบาท ซึ่งสวนกระแสกับรายได้ที่ ร.ฟ.ท. ต้องการรายได้ถึง 1,100 ล้านบาทต่อปี

เมื่อตัวเลขความต้องการต่างกันถึง 14 เท่าตัว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สุดท้ายแล้ว การเจรจาครั้งนี้จะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และในที่สุด ร.ฟ.ท. ก็เลือกวิธีการจัดการที่ตัวเองคุ้นเคยคือ การตั้งบริษัท ตลาดนัดจตุจักร ร.ฟ.ท. จำกัด เข้ามาดูแลแทน เหมือนกับที่ทำกับแอร์พอร์ตลิงก์ โดย พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้ตั้งความหวังเอาไกลๆ ว่า จะพัฒนาปรับโฉมตลาดนัดจตุจักรนี้ให้มีความทันสมัย สะอาด รวมทั้งจัดทำเป็น ‘วอล์กกิ้ง สตรีท’ อีกต่างหาก ส่วนปัญหาที่คาราคาซังไม่ว่าเรื่องอัตราเช่าแผง หรือเงินใต้โต๊ะ ก็เตรียมจะล้างบางให้หมดไปโดยเร็ว

แน่นอนแม้งานนี้รัฐมนตรีจะให้สัญญาประชาคมเอาไว้ แต่เชื่อเถอะว่าถึงตอนนี้หลายคนอาจจะรู้สึกหวาดๆ อยู่ค่อนข้างมาก เพราะต้องยอมรับว่าการบริหารธุรกิจของ ร.ฟ.ท. ที่ไม่ใช่การปล่อยพื้นที่ให้รัฐและเอกชนเช่านั้น ช่างดูลุ่มๆ ดอนๆ เสียเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นงานรถไฟเอง หรืองานแอร์พอร์ตลิงก์ แล้วตลาดนัดแห่งนี้จะไปรอดหรือไม่?!?

เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดตอนนี้ก็คือ การจับตาดูการบริหารครั้งนี้ว่าจะเป็นเช่นใดต่อไป รวมไปถึงการจับทิศทางการปฏิรูปตลาดนัดจตุจักร ซึ่งถือว่าสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ไม่ว่าชาวไทยหรือชาวต่างชาติก็ต้องแวะว่า สุดท้ายควรจะไปทางไหนดีกันแน่

[1]

เป็นเวลากว่า 30 ปีเต็มแล้วที่คนไทยมีโอกาสได้รู้จักกับตลาดนัดจตุจักรแห่งนี้ เพราะเมื่อก่อนตลาดนัดใจกลางกรุงนั้นประจำที่ท้องสนามหลวง แต่ในปี 2525 มีการผลักดันให้กลุ่มผู้ค้าย้ายมาอยู่ที่นี่แทน ซึ่งระหว่างนั้นก็มีความขัดแย้งมากมายเต็มไปหมด โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความมั่นใจว่าตลาดแห่งใหม่จะไปรอดหรือไม่ เพราะเป็นธรรมดาของการย้ายสถานที่ ย้ายทำเล ที่สุดท้ายแล้วอาจจะไม่สามารถย้ายลูกค้าไปด้วย แต่จากข้อพิสูจน์ในปัจจุบัน ก็คงทำให้ได้ว่าปัญหาที่หลายคนเป็นห่วงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด เพราะสุดท้ายแล้วตลาดนัดจตุจักรก็ยังขยายไปอย่างต่อเนื่อง และดูจะเจริญรุ่งเรืองกว่าแต่ก่อน

“ถ้าเราไปดูจตุจักรวันนี้ คนแน่นเอี๊ยดเลย ตรงนี้ก็คงเป็นดัชนีตัววัดว่าถ้าบริหารจัดการไม่ได้ก็คงไม่สามารถดึงคนได้ขนาดนี้ เพราะใครเชื่อว่าจากสนามหลวงที่คนไม่อยากจะย้าย แต่มันสามารถแปลงโฉมให้เป็นที่พอใจ และทำได้ดีกว่าสนามหลวงเสียอีก เพราะฉะนั้นถ้าดูจากการบริหารก็ถือว่าจัดการได้ดีมาก” รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ให้ความเห็นเกี่ยวกับบริหารงานของกรุงเทพมหานคร

แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะถือว่าประสบความสำเร็จไปเสียหมด เพราะต้องยอมรับว่า ท่ามกลางความสำเร็จก็มีปัญหาเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงของกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า การขึ้นค่าแผงแบบก้าวกระโดด เพราะต้องยอมรับว่าเมื่อธุรกิจเจริญเติบโต ก็ย่อมจะมีคนพยายามแย่งเข้าไปมาประกอบกิจการภายในธรรมดา เพราะคิดว่านี่คือทำเลทอง ด้วยเหตุนี้เองภายในตลาดนัดจตุจักรจึงประกอบไปด้วยผู้ค้าออกเป็น 3 กลุ่มคือ

1.กลุ่มย้ายมาจากสนามหลวง ซึ่งจ่ายค่าเช่าแผงที่ 500 บาท ซึ่งเป็นอัตราขั้นต่ำที่ กทม.กำหนดเอาไว้
2.กลุ่มเช่าช่วงต่อ ซึ่งเช่าต่อจากเจ้าของแผงตัวจริง โดยค่าเช่าแผงจะสูงขึ้น คือตั้งแต่ 7,000-18,000 บาท ขึ้นอยู่กับทำเลว่า ดีหรือไม่ หากที่ดีๆ ติดถนนคนเดิน ราคาก็แพงหน่อย แต่ถ้าต้องเข้าไปในซอก ราคาก็จะถูกลงมา
3. กลุ่มนายทุน ซึ่งพวกนี้มักจะเป็นที่มีแผงอยู่ค่อนข้างเยอะ บางคนก็เป็นผู้มีอิทธิพลในวงราชการ เพราะฉะนั้นจึงได้สิทธิพิเศษในการจับจองแผง ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ทำต่อมาก็คือปล่อยเช่าในราคาแพงมาก บางรายก็เสียค่าเช่าถือว่า 30,000 บาทเลยก็มี ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะยอมเพราะถือว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นปัญหาทางเทคนิค ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการบริหารงานธุรกิจใหญ่ๆ ที่จะต้องมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ้าง ดังนั้น ถ้ากล่าวกันโดยภาพรวมทั้งหมดแล้ว ก็ต้องถือว่าตลาดนัดจตุจักรนั้นถือเป็นการประกอบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

[2]

เมื่อโอกาสทางธุรกิจค่อนข้างสดใส คำถามก็คือ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารงานใหม่ จาก กทม. มาเป็นบริษัทลูกของ ร.ฟ.ท. ตลาดนัดจตุจักรซึ่งกำลังอยู่ในทิศทางที่ดีจะได้รับผลกระทบหรือไม่

ซึ่งในเรื่องนี้ รศ.ดร.สมชาย ก็บอกว่าไม่ถือเป็นปัญหา เพราะตอนนี้ตลาดนัดจตุจักรถือได้ว่า เป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแล้ว ต่อให้ใครเข้ามาบริหารงานก็ไม่ถือว่ายากสักเท่าใด หากไม่ทำอะไรที่จะเป็นการลบล้างข้อเด่นที่มีไป ดังนั้นซึ่งสิ่งหนึ่งที่คนที่เข้ามาต้องมีก็คือ 'เซนต์ของการตลาด' โดยอย่ามองแต่ผลประโยชน์อย่างเดียว แต่ต้องทำความเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองบริหารอยู่

“การทำตลาดแบบนี้ ผมว่าในระยะแรกเป็นเรื่องที่ต้องใช้ฝีมือพอสมควร เพราะต้องดึงคนจากที่หนึ่ง มาอยู่อีกทีหนึ่ง แล้วก็ต้องทำให้คนพอใจด้วย แต่ตอนนี้การบริหารจัดการจะเป็นไปตามธรรมชาติของมันแล้ว เพราะของมันขึ้นแล้ว ง่ายแล้ว เพราะมันไม่เหมือนร้านอาหารที่แม้คุณจะทำขึ้นแล้ว หากบริหารไม่คงเส้นคงวา คนน้อยลง และที่สำคัญการแข่งขันในตลาดแบบนี้ มันไม่มี เอาง่ายๆ ในกรุงเทพฯ คุณจะหาสถานที่ที่ใหญ่โตแบบนี้ แล้วมาบอกว่าอย่าไปที่จตุจักร มาแทนที่...มันไม่มี เพราะฉะนั้นถ้าการรถไฟฯ เอาไป อย่าทำให้มันพังแล้วกัน ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ มันไปได้เอง”

ซึ่งเรื่องพวกนี้ด้วยการศึกษาจุดเด่นที่ทำให้ตลาดประสบความสำเร็จให้ได้เสียก่อน ซึ่งในมุมของผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ ก็บอกว่า 'ความหลากหลาย' น่าจะเห็นได้ชัดเจนที่สุด

“เวลาผมไปเมืองนอก เขาจะมีตลาดที่นักท่องเที่ยวหรือคนในประเทศก็ต้องไป ซึ่งจุดหนึ่งที่พบเป็นพิเศษก็คือ เขาจะมีสินค้าที่หลากหลาย แปลกๆ และมีความครบครันทุกอย่าง ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นผลมาจากการบริหารจัดการที่อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ในอีกทางหนึ่งมันก็มีประเด็นที่ต้องปรับปรุงเหมือนกัน เพราะโดยส่วนผมคิดว่าจตุจักรน่าจะเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกเลย เพราะลักษณะแบบนี้เปรียบเสมือนเป็นภาพลักษณ์ประจำของแต่ละประเทศ แต่จตุจักรยังไม่ถึงขั้นนั้น ฉะนั้นถ้าเขาบริหารจัดการจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวได้อีกมาก”

จากความหลากหลายที่เกิดนี้เอง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ถึงให้คำจำกัดความว่า ตลาดนัดจตุจักรมีความเป็นเลิศเหนือพื้นที่ค้าปลีกอื่น ทั้งในด้านของการเป็นศูนย์กลางแฟชั่น และศูนย์กลางสินค้าไลฟ์สไตล์ที่สามารถดึงดูดทุกกลุ่มเป้าหมายให้มาจับจ่ายใช้สอย และแน่นอนแม้หลายคนจะรู้สึกว่าตลาดนัดแห่งนี้ดูรกรุงรังไปสักหน่อย แต่ถ้ามองให้ดี ก็จะพบว่านี่คือเสน่ห์สำคัญอย่างหนึ่งของตลาดนัดในประเทศเอเชียที่จำเป็นจะต้องมี

ประกอบกับถ้าพิจารณาในแง่ชัยภูมิแล้ว ก็จะพบว่าตลาดนัดจตุจักรนั้นอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ เพราะแวดล้อมไปด้วยสาธารณูปโภคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านคมนาคม สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ส่งผลให้การเดินทางก็สะดวกสบายไปหมด แถมยังเป็นใจกลางเมือง ไม่ว่าจะเดินทางไปจุดไหนก็สะดวกไปหมด

เพราะฉะนั้น หากผู้บริหารทราบถึงจุดเด่นตรงนี้ ก็จะสามารถบริหารต่อไปได้ไม่ลำบากนัก ขอเพียงอย่างเดียวก็คือ จะต้องไม่ลบล้างจุดเด่นตรงนี้ ซึ่ง รศ.ดร.สมชาย ได้ยกตัวอย่างเช่น การลดความหลากหลายลง หรือกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไปสร้างอสังหาริมทรัพย์อย่างคอนโดมิเนียม ซึ่งถือเป็นการบั่นทอนภาพลักษณ์ของตลาดลงอย่างสิ้นเชิง

เช่นเดียวกับเรื่องประชาสัมพันธ์ ที่ผู้บริหารใหม่จะอัดฉีดตรงนี้ให้มากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าตลาดนัดจตุจักรมีความพร้อมตรงนี้อยู่แล้ว ถ้าทำให้มากขึ้นอีกหน่อยโอกาสที่จะเป็นที่รู้จักของชาวโลกก็ไม่เรื่องยาก

ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคมที่มีแนวคิดปรับภูมิทัศน์ของตลาดนัดจตุจักรให้เป็นวอล์กกิ้ง สตรีท นั้น ก็ต้องนำหลักการความคุ้มค่าต่อภาพลักษณ์มาพิจารณาเช่นกัน โดย รศ.นิลุบล คล่องเวสสะ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าเรื่องนี้คงต้องศึกษารายละเอียดให้ดีพิเศษ เพราะตามคำนิยามของถนนแบบนี้ ก็คือ ถนนที่ปิดไม่ให้รถวิ่งแล้วเปิดให้คนเข้าไปเดินได้แทน ในขณะที่ตลาดนัดจตุจักรยังมีลักษณะกึ่งๆ อยู่ เพราะยังเปิดให้รถเข้าไปได้อยู่ ซึ่งหากปรับจริงก็อาจจะมีผลกระทบผู้ประกอบการหรือบรรดานักท่องเที่ยวอยู่บ้าง

“การจะเป็นวอล์กกิ้ง สตรีท หรือรูปแบบใดก็ตาม มันสำคัญที่คอนเซ็ปต์และองค์ประกอบที่ต้องชัดเจน เพื่อที่จะได้สามารถชิงความเป็นหนึ่งและดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมาย อย่างในปัจจุบันพื้นที่ค้าปลีกแบบวอล์กกิ้ง สตรีท หรือ แบบที่ไม่มีหลังคา จะไม่ค่อยเหมาะกับประเทศที่มีฝนตกชุกและอากาศร้อน ดังนั้นหากจะมีการปรับโฉมตลาดครั้งใหญ่ อยากจะเสนอให้มีการคิดคำนึงถึงการปรับรูปแบบให้เป็นลักษณะผสมผสาน ที่มีทั้งส่วนในอาคารปรับอากาศและไม่ปรับอากาศ จุดที่ควรเพิ่มเป็นอย่างยิ่งคือ การขยายทางเดินให้โปร่งกว้างขวาง ควบคู่กับการสร้างลานโล่งทำกิจกรรม ซึ่งจะเป็นจุดดึงดูดคนเพิ่มได้” กอบกิจอธิบายเสริมในประเด็นดังกล่าว

เพียงแค่นี้โอกาสที่ตลาดนัดจตุจักรจะสามารถรักษาภาพลักษณ์ที่ดีไว้ดังเดิม และมีโอกาสต่อยอดความสำเร็จไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะมีใครมาทำหน้าที่บริหารก็เป็นไปได้สูงแล้ว

[3]

นอกจากการทำความเข้าใจองค์กรแล้ว ประเด็นต่อมาที่ถือว่าสำคัญไม่แพ้กันก็คือ การจัดการปัญหาทางเทคนิค อย่างปัญหาการเช่าช่วง การบริหารเวลาหรือความสะอาด เพราะแม้เรื่องเหล่านี้จะมีผลต่อภาพรวมน้อยกว่าการรักษาภาพลักษณ์ เนื่องจากถือเป็นปกติในการบริหารงานขนาดใหญ่ แต่ถ้าปล่อยให้ลุกลามมากๆ ก็จะนำไปสู่ปัญหาสั่นคลอนความมั่นคงของธุรกิจ และสภาพจิตของผู้ที่ได้มีส่วนร่วมกับตลาดนัดจตุจักรเช่นกัน

ดั่งความในใจของ อัญชลี คงสบาย ผู้ค้าที่อาศัยพื้นที่ตลาดนัดสวนจตุจักรเป็นที่ทำมาหากินนานถึง 10 ปี ที่ระบุถึงสิ่งที่เป็นปัญหาของที่ทำกินแห่งนี้

“อยากให้จตุจักรสะอาดกว่านี้ แล้วก็เลือกคนขายที่เป็นผู้ประกอบการ พวกผู้ผลิต จะได้ขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้น เป็นศูนย์กระจายสินค้า ไม่ใช่ประเภทซื้อมาขายไป แล้วก็แก้ปัญหาพวกแบกะดินเพราะเขาไม่เสียค่าเช่า แต่มันก็ต้องแบ่งกัน เราก็สงสารเขา แต่เขาก็ต้องสงสารเราคนข้างในด้วย คือถ้าเขาจะขายก็ให้มาขายเย็นๆ หน่อย ไม่ใช่พอประมาณซักบ่าย 3 โมง ก็มาตั้งขายแล้ว ทำให้คนไม่เดินเข้ามาข้างใน”

ซึ่งแน่นอน ปัญหาแรกที่จะต้องจัดการ ก็คือ การทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่ง รศ.ดร.สมชายบอกว่า หากมีผลประโยชน์เล่นพรรคเล่นพวกมาก จะทำให้เกิดปัญหาเต็มไปหมด โดยเฉพาะภาพลักษณ์ และอาจจะทำให้ความหลากหลายหายไปได้ เพราะผู้ที่เอาเข้าก็มักจะใช้วิธีเลือกที่รักมักที่ชังจนไม่คำนึงถึงเรื่องนี้

“ทุกอย่างมันมีปัญหาหมดแหละ แต่ถ้าคุณไม่โปร่งใส และคำนึงถึงผลประโยชน์แล้วมันไปกระทบต่อลูกค้า ต่อไปเขาอาจจะไม่มาก็ได้ ตัวอย่างมีอาแป๊ะเปิดร้านขายน้ำ แต่เผอิญมองแต่ผลประโยชน์ตัวเองมากเกินไป ก็เลยเลือกสินค้าที่ให้เปอร์เซ็นต์สูงอย่างเดียว แต่เวลาลูกค้ามาที่น้ำแต่เขาอยากได้สินค้าที่เขารู้จัก หากมาแล้วไม่พบ แค่นี้ก็ขายไม่ออก ซึ่งจตุจักรก็เหมือนกัน หากมีการเช่าช่วงแล้วเอาอะไรมาก็ได้ ก็จะเป็นปัญหาในอนาคตเหมือนกัน”

ส่วนปัญหาเรื่องเวลาเปิด-ปิดนั้น ถือว่าเป็นปัญหาที่แก้ได้ง่ายที่สุด เพราะฝ่ายบริหารสามารถกำหนดได้เลยว่าจะไปทางไหนดี หากคนมีความต้องการจะเข้ามาใช้บริการมาก ก็สามารถเพิ่มวันขายให้ตรงกับอุปสงค์ได้เลย

อย่างไรก็ดี ประเด็นหนึ่งที่ รศ.นิลุบล ยังอดห่วงไม่ได้ก็คือ ปัญหาเชิงกายภาพ เช่น เส้นทางและผังที่ดูสับสน เดินหาซื้อของที่ต้องการได้ไม่ง่ายนัก ซึ่งตลาดนัดจตุจักรยังมีอยู่มาก เพราะฉะนั้น ในส่วนนี้ทางผู้บริหารใหม่ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของคนที่มาซื้อของและคนที่มาขายของมากขึ้น โดยวางผังของตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการและการใช้งาน ตัวอย่างเช่น ระบบป้ายบอกทางที่ดี ให้ความสะดวกกับทุกฝ่าย ส่วนอากาศที่ร้อนก็ควรจัดหาร่มเงา ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเป็นร่มเงาจากต้นไม้เสมอไป อาจเป็นร่มเงาจากหลังคาที่เป็นโครงสร้างชั่วคราวหรือกึ่งถาวรแบบต่างๆ ไปจนถึงการเลือกวัสดุพื้น ผนัง หลังคา ที่ไม่เพิ่มความร้อนกับสถานที่

“หากมองอีกมุมหนึ่งตลาดนัดจตุจักรนั้นถือว่ายังขาดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องการดูแลความปลอดภัย การดูแลความสะอาดในสถานที่ การจอดรถ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของห้องน้ำ ขยะ ฉะนั้นผู้ที่จะมาดูแลตลาดนัดจตุจักรในอนาคตควรที่จะวางแผนการพัฒนาเชิงรุก ไม่ใช่แค่ดูแลเพียงอย่างเดียว” กอบกิจสรุปปิดท้าย
……….

แม้วันนี้ตลาดนัดจตุจักรจะอยู่ภายใต้เงื้อมมือใครก็คงไม่สำคัญเท่ากับว่า สุดท้ายแล้วมันจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้จริงๆ หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่า ทำดีพอสมควร ส่วนในอนาคต ก็คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของเวลาดำเนินการไป ส่วนประชาชนอย่างเราๆ ก็คงทำได้เพียงแค่รออย่างใจจดใจจ่อเท่านั้นเอง
>>>>>>>>>>>>
………..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร